คังซี-ฮ่องเต้คังซี-จักรพรรดิคังซี
ข้อคิดคติจีน

จักรพรรดิเรียนคิดเลข

คังซี-ฮ่องเต้คังซี-จักรพรรดิคังซี

คังซี-ฮ่องเต้คังซี-จักรพรรดิคังซี

ในปีที่ฮ่องเต้คังซีครองราชย์ก็เป็นที่ความเจริญทางตะวันตกเข้ามาในจีน หากแต่ว่าด้วยภูมิปัญญาจีนโบราณที่กล้าแข็งทำให้บัณฑิตและขุนนางทั้งหลายมองข้ามความสำคัญของวิทยาการตะวันตกเหล่านี้ไป แต่ไม่ใช่สำหรับ คังซี พูดได้เลยว่า ตามประวัติศาสตร์จีนอันยาวนาน หาฮ่องเต้น้อยมากๆที่จะให้ความสนใจเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ทั้งนี้ คังซี ได้รับการสอนคณิตศาสตร์จากทั้งครูจีนและครูตะวันตก จนสามารถแต่งรวบรวมตำราและตั้งโรงเรียนการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ขึ้นมา

康熙三年 (ปี 1664) ณ ปีที่สามหลังจากคังซีครองราชย์ แต่งตั้งให้ผู้มีความเชี่ยวชาญทางคณิตศาสตร์จากตะวันตกเข้ามาเป็น ขุนนางในสำนักที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการคำนวนปฏิทิน ชื่อสำนักว่า 欽天監 ชื่อบาทหลวง J. A. Schall von Bell กับ Ferdinand Verbiest จากเยอรมัน เพื่อทำการปรับปรุงปฏิทินจีนให้มีความสอดคล้องกับความจริงของดวงดาวบนท้องฟ้า ปรับปรุงสูตรการคำนวน และยังตั้งแผนกเฉพาะเพื่อศึกษาวิจัยวิทยาการของชาติตะวันตก ณ สำนัก欽天監 นี้ บาทหลวงทั้งสองได้ชี้ข้อบกพร่องของการคำนวนปฏิทินจีนตามสูตรเดิม ทีนี้คงซีได้เห็นชอบตามที่บาทหลวงว่า จัดให้มีการทดสอบการคำนวนเงาที่ทอดไปของพระอาทิตย์ที่ส่องเข็มของนาฬิกาแดด ณ ยามโง่ว หรือยามเที่ยงวัน 正午時分日晷的投影位置 คังซีเลยมีราชโองการให้ ณ วันที่ยี่สิบหก เดือนสอง ในปี1669 จัดการทดสอบระหว่างสองสำนักคือ ราชสำนักจีนเดิม และสำนักของชาวตะวันตกที่ตั้งขึ้นใหม่ ณ ประตูอู่เหมิน 午門 ภายในพระราชวังกู้กง ผลปรากฎว่า การคำนวนของสำนักบาทหลวงมีความแม่นยำกว่า คำนวนมาได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน (ประตูอู่เหมินนี่ ฝรั่งแปลว่า meridian gate เพราะประตูนี้เชื่อว่าคำนวนให้ตรงสอดรับกับเส้นเมอริเดียนที่พาดผ่านในแนวเหนือใต้ตามขั้วโลก เป็นประตูหลัก ประตูหน้าที่แท้จริงของพระราชวังกู้กงนี้ 午门居中向阳,位当子午,故名午门 อู่เหมินนั้น รับกระแสตรงจากความเป็นหยาง ตั้งในแนว จื่อ อู่ คือ แนวอะไรจื่ออู่ ถ้าศึกษาฮวงจุ้ยมาก็จะทราบว่า คือแนวเหนือใต้แบบตรงๆเผงๆ จึ่งได้ชื่อว่า อู่เหมิน) จุดนี้เองเป็นจุดเปลี่ยนทางการคำนวนปฏิทินจีน คังซีได้ให้ยกเลิกระบบการคำนวนเดิมเปลี่ยนมาใช้การคำนวนตามแบบฉบับแนวทางของ J. A. Schall von Bell และได้แต่งตั้งให้มีตำแหน่งรับผิดชอบดูแลสำนัก 欽天監

康熙九年 (ปี1670) คังซีได้มีราชโองการ ความว่า 天文關係重大, 必選擇得人。 令其 專心肄習, 方能通曉精微。 可選取官學生, 令其與漢天文生一同肄習。 有精通者, 俟欽天監員缺, 考試補用 ดาราศาสตร์และธรรมชาติวิทยามีความสำคัญต่อชีวิตคนเรายิ่ง จำต้องมีแนวทางการศึกษาทีไ่ด้รับการพัฒนาให้ก้าวหน้าหลากหลาย จึ่งส่งเสริมให้ขุนนางตลอดจนบัณฑิตได้ศึกษาทำความเข้าใจทั้งทางฝั่งจีนและตะวันตก ให้สำนัก 欽天監 รับผิดชอบการศึกษาวิจัยปรับปรุงพัฒนาและจัดระบบการศึกษา ละคังซีทำไงครับ คังซีไม่รอช้าทำตัวเป็นตัวอย่าง เล่าเรียนกับบาทหลวงดังกล่าวทั้งเรื่องวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของชาติตะวันตก

วันที่สิบ เดือนสี่ ณ ปีดังกล่าว การศึกษาอย่างเป็นระบบแท้จริงก็เริ่มขึน บาทหลวงเล่าว่า ทุกเช้ายามไก่ขัน คังซีจะส่งคนพร้อมรถม้ามาเชิญตัวเขาเข้าไปในห้องทรงพระอักษร ไปถึงในวังเช้าตรู่ขนาดนี้ แต่ปรากฎว่าฮ่องเต้คังซีได้เตรียมพร้อมการเรียนและบทเรียนที่จะเรียนเอาไว้อย่างดี เขายังไม่ทันได้นั่งเก้าอี้ดี คังซีก็จะกระตือรือร้นถามโจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่เคยเรียนมา หรือถามคำถามใหม่ๆกับเขาเสมอ และเมื่อว่าราชการเรียบร้อยแล้ว เจ้าพนักงานในวังเล่าว่าคังซีมักทบทวนโจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์อยู่นานสองนาน ล่วงเลยยามโง่วราวบ่ายสามบ่ายสี่ ถึงได้เปลี่ยนไปทำอย่างอื่น หรือกลับเข้าที่พัก

ปี 1684 ด้วยวัยที่เฒ่าชะแรแก่ชะราและงานที่มากของบาทหลวง Ferdinand Verbiest เขาจึงได้มอบหมายให้ Antoine Thomas ทำหน้าที่สอนคังซีแทน ในการนี้ Antoine Thomas ก็ได้แต่งบทเรียนเพื่อใช้ในการเรียนการสอนนี้ ชื่อ 數學概要 ในการนี้คังซีได้ประทานม้าและผู้ช่วยแก่ Antoine เพื่อให้เขาใช้เดินทางมาทำการสอนคังซี มีครั้งหนึ่ง Antoine ล้มป่วยลง คังซีได้ให้หมอหลวงในพระราชวังไปรักษา วันรุ่งขึ้นยังให้ขันทีไปสอบถามอาการมารายงาน กาลต่อมา บาทหลวงก็ได้เขียนจดหมายกลับไปที่ประเทศตนเพื่อขอบาทหลวงมาเพิ่ม ในการทำการเผยแพร่ศาสนาและวิทยาศาสตร์ ก็ได้มาจำนวน ห้าคน พร้อมกันนี้ บาทหลวงเหล่านั้นก็ได้นำตำรา และสิ่งของทางวิทยาการตะวันตกเช่น นาฬิกาตุ้ม มาถวายคังซีด้วย หนึ่งในบาทหลวงชื่อ Joachim Bouvet เขียนเล่าไว้ว่า ตามพระประสงค์ของคังซี ทุกเช้าจะมีคนเอาม้ามารับ พร้อมกับมีผู้เชี่ยวชาญทั้งภาษาจีน และภาษาแมนจู มาซักซ้อมเตรียมพร้อมช่วยในการทูลถวายรายงานและการสอน โดยต้องเตรียมไว้ให้ถูกต้องรัดกุม ในหนังสือชื่อ บันทึกประจำวันของจางเฉิง 張誠日記 เล่าว่า กลางคืน ฮ่องเต้กับข้าได้ทำการตีโจทย์แก้โจทย์ปัญหาเกี่ยวกับสามเหลี่ยม และเรขาคณิต เขาทำการสอนโดยนั่งอยู่ข้างๆไม่ถึงชั่วโมง คังซีก็สามารถทำโจทย์และเข้าใจเรื่องราวต่างๆได้ไวมาก ตกดึกเมื่อกลับยังส่งคนเอาเหล้ามาให้พร้อมกำชับว่าต้องดื่มๆ เขาดื่มไม่ไหวหรอก ส่งมาให้มากขนาดนี้ รุ่งขึ้นก็ส่งคนมาถามว่า ดื่มจนเมาซะละมั้งเนี่ย ต่อมาคณะบาทหลวงก็ได้ทำตามรับสั่งคังซี เขียนจดหมายเชิญผู้มีความรู้ทางคณิตศาสตร์ทั้งจากเยอรมันและฝรั่งเศสมาเพิ่ม ทั้งตำราและผู้รู้จากตะวันตกมากมายก็เริ่มเข้าสู่แผ่นดินจีนมากขึ้นกว่าเดิม

Joachim Bouvet เล่าในหนังสือชื่อ《康熙皇帝》ว่าคังซีรักเรียนใฝ่รู้คณิตศาสตร์มาก รับผิดชอบการเรียน ทำโจทย์อย่างตั้งใจ และทำการบ้านอย่างครบถ้วน ขอแค่ราชกิจไม่มาก ก็จะใช้เวลาตั้งวันละ สองสามชั่วโมง ศึกษาเล่าเรียน กลางคืนยังนั่งทบทวนด้วยตนเองอีก อีกทั้งยังมีความรับผิดชอบการเรียน ทบทวนบทเรียนก่อนการเรียนครั้งใหม่ ทำโจทย์ด้วยตนเองแล้วค่อยให้ครูมาตรวจสอบความถูกต้อง ความยากในการแปลภาษาไม่เป็นอุปสรรคเพราะความใจเย็นของคังซี ทั้งยังเมื่อเรียนจบก็ได้จดบันทึกสิ่งที่เรียนทั้งหมดเอาไว้อย่างดีด้วยตนเอง “โจทย์ปัญหาใดที่แก้ไม่ตกวันนี่ ก็จะทำการคิดต่อจนคิดได้ ไม่ทิ้งขว้างปล่อยผ่าน”

ณ ห้วงเวลานี้ ตำรามากมายทางคณิตศาสตร์ได้ถูกเรียบเรียง และแปลเป็นภาษาแมนจู ไม่ว่าจะเป็น 《幾何原本》《數學概要》 《算法纂要總綱》 《理論與應用幾何學》《算法原本》คงซีก็ได้อ่านและตรวจทานตำราเหล่านั้น อีกทั้งยังให้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วประเทศจีน คังซีมีอัจฉริยภาพทางคณิตศาสตร์เป็นอย่างมาก ซึ่งต่อมา ก็ได้เชิญ JeanDominique Cassini จากอิตาลี และ Philippe de Lahiere จากฝรั่งเศส ผู้เชี่ยวชาญทางคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ มาให้ความรู้โดยเฉพาะเรื่องการเกิดสุริยุ และ จันทรุปราคา ซึ่งนอกจากคังซีจะทำการศึกษาคำนวนเองแล้ว ยังเฝ้ารอชมปรากฎการณ์ดังกล่าวด้วยตนเอง พิสูจน์ข้อสงสัยด้วยการเฝ้าสังเกตจากธรรมชาติจริงไม่เพียงแต่ในตำรา ครั้งหนึ่งก็ทำการคำนวนหาปริมาตรทรงกลม และน้ำหนัก นอกจากคำนวนบนกระดาษแล้วก็ยังได้ทำการพิสูจน์จากของจริงว่า การคำนวนนั้นจริงเท็จประการใดด้วย

康熙三十一年 (ปี 1672) ได้จัดเสวนาปาถกครั้งใหญ่ ในตำหนักเฉียนชิง 乾清宮 ท่ามกลางเหล่าขุนนาง โดยถกปัญหากันเรื่อง แผนภาพไท่เก็ก 太極圖 และการคำนวนเงาแดดยามเที่ยงวัน ซึ่งเหล่าขุนนางได้เห็นอัจฉริยภาพคังซีจากการที่พระองค์คำนวนเวลาและเงาของนาฬิกาแดด ณ เวลานั้นๆได้อย่างแม่นยำ

ส่วนตัวแล้วคังซีค่อนข้างจะปรามาส วิชาคณิตศาสตร์ของจีน ดังที่ในหนังสือ 榕村續語錄 เล่าว่า คังซีคราวเสด็จไป เต๋อโจว ได้พูดคำๆนึงว่า 漢人於算法, 一字不知 ชาวฮั่นนี่นะ กับเรื่องการคำนวน ไม่รู้เรื่องเลยแม้แต่น้อย จนถึงปี 1702 ได้มีโอกาสอ่านหนังสือชื่อ 《曆學疑問》แต่งโดยนักคิดชาวจีนนามว่า 梅文鼎 จึ่งทำให้ความคิดเขาเปลี่ยนไป ทึ่งในภูมิปัญญาคนจีน แต่ก็ได้วิจารณ์ว่า ต่อให้หนังสือไม่มีข้อผิดพลาดแต่ว่ายังเขียนไม่รัดกุมครอบคลุมพอ กระทั่งปี 1705年 คังซีได้ไปเต๋อโจวอีกรอบ ไปพบ 梅文鼎 ในวัยเจ็ดสิบสามปี ได้อ่านตำราของ 梅文鼎 อีกเล่มชื่อ《三角法舉 要》 ยิ่งรู้สึกทึ่งในความรู้ สนทนาแลกเปลี่ยนอย่างสนใจตั้งสองสามวัน แล้วได้เขียนสี่คำประกาศเกียรติคุณแก่ 梅文鼎 ว่า 績學參微 ชื่นชมภูมิรู้และความสามารถว่าถ่องแท้แทงทะลุหลักวิชาได้

นอกจากนี้ คังซี ยังได้ตั้งโรงเรียนเพื่อสอนคณิตศาสตร์นี้ขึ้น บริเวณ 暢春園 ในปี 1713 ปีที่คังซีอายุ หกสิบปีพอดี บ่อยครั้งที่คังซีไปสอนคณิตศาสตร์ด้วยตนเองด้วย คังซียังได้รวบรวมความรู้ทำเป็นตำราอันมีชื่อ หนึ่งชุด ชุดหนึ่งมีสามส่วนประกอบกัน ได้แก่ 《律呂正義》ว่าด้วยเรื่องดนตรี 《曆象考成》ว่าด้วยเรื่องลมฟ้าอากาศและดาราศาสตร์ 《數理精蘊》ว่าด้วยคณิตศาสตร์ โดยรวบรวมบัณฑิตนักปราชญ์มากมายช่วยกันแต่งอย่างเอาเป็นเอาตาย ซึ่งมีบันทึกไว้ว่า 所纂之書, 每日進呈, 上視加改正焉 กว่าจะรวบรวมเป็นตำราพวกนี้ออกมาได้ ทุกวันต้องครุ่นคิด แก้ไข ปรับปรุง มากมายเหลือเกิน

คังซียังเป็นฮ่องเต้ที่อธิบายเรืองสามเหลี่ยมโดยสูตรการคำนวนชื่อว่า《積求勾股法》คำนวนหาความยาวแต่ละด้านของสามเหลี่ยมผ่านพื้นที่ของสามเหลี่ยม 若所設者為積數, 以積率六除之, 平方開之得數, 再以勾股弦各率乘之, 即得勾股弦之數

การศึกษาคณิตศาสตร์ของคังซีเป็นการศึกษาโดยการพยายามเอาวิชาการตะวันตกมาค้นคว้าตีความวิชาจีน โดยมีหลักการคิดว่า ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์พื้นฐานนั้น ลึกๆแล้วเกิดมาจากคัมภีร์ อี้จิง 《易經》

ต้นตอเรื่องราวการรักคณิตศาสตร์ของคังซีเกิดจากอุปนิสัยชอบทดลอง หนึ่ง ใฝ่หาผู้รู้นักปราชญ์ โหยหาความรู้อย่างหิวโซ ไกลโขแค่ไหนก็ทุ่มเท สอง ยอมรับข้อผิดพลาดและการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ สาม ทำให้เกิดความก้าวหน้า เพราะจากเรื่องเล่าที่ทีแรกเกิดขึ้นเพราะความขัดแย้งเรื่องการคำนวนปฏิทินจีนที่ไม่ตรงกับความจริงบนท้องฟ้า กระตุ้นให้เขาหันมาศึกษาคณิตศาสตร์ของชาติตะวันตกอย่างไม่ลังเล

ปฏิทิน คือเครื่องมือทางอารยธรรมในการทำความเข้าใจลมฟ้าอากาศ และคณิตศาสตร์คือเครื่องมือในการทำปฏิทิน การเข้าใจคณิตศาสตร์ จึงเป็นหนทางสู่การเข้าใจธรรมชาติ ทำไมลมฟ้าอากาศถึงมีความสำคัญขนาดนั้น เพราะเราอยู่บนโลกครับ และมันส่งผลมากมายกว่าที่ท่านคิดเยอะ ลองหาอ่านหนังสือ ลมฟ้าอากาศ พลิกประวัติศาสตร์โลก และอาจจะทึ่งว่า โอ้โห ทหารที่มองไม่เห็นของขงเบ้งจอมปราชญ์สามก๊ก ที่เอาไว้รบชนะโจโฉได้นั้น ทรงพลานุภาพยิ่ง ลมฟ้าอากาศนั้นเอง คือ ทหารที่ล่องหน ที่ขงเบ้งใช้

คนเราชีวิตต้องเจอโจทย์ตลอด เจอปัญหาเรื่อยๆ คณิตศาสตร์ไม่ได้ฝึกแค่ตัวเลข แต่ฝึกใจสู้ที่จะตีโจทย์ให้ออก ฝึกกระบวนการคิดพลิกแพลง แก้ปัญหา มีเพื่อนถามว่า ไซน์ คอส แทน เรียนไปทำไม แสควร์รูธ เรียนไปทำไม ไม่ได้ใช้หรอกฉันจบไปก็ไปขายของ อย่างมากก็ใช้แค่บวกลบคูณหาร ตอบว่า สิ่งเหล่านี้เป็นโจทย์เพื่อฝึกใจนักสู้เจอปัญหาไม่ถอยและกระบวนการคิด ชาติที่คำนวนเก่งๆ หรือ ประเทศที่เก่งเลข มักเป็นประเทศมหาอำนาจในเวลาต่อมาทั้งสิ้น เหมือนอย่างจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ นาม คังซี เรื่องนี้ทำให้นึกถึงกลอนบทหนึ่งที่ได้รับการเอามาแต่งเป็นเพลง สะท้อนถึงความสำคัญของวิชาความรู้แต่ละแขนง และความสำคัญของคนทุกสาขาวิชาชีพในชาติ เพลงชื่อ เมืองกังวล

เมืองใดไม่มีทหารหาญ เมืองนั้นไม่นานเป็นข้า
เมืองใดไร้จอมพารา เมืองนั้นไม่ช้าอับจน
เมืองใดไม่มีพณิชเลิศ เมืองนั้นย่อมเกิดขัดสน
เมืองใดไร้ศิลป์โสภณ เมืองนั้นไม่พ้นเสื่อมทราม
เมืองใดไม่มีกวีแก้ว เมืองนั้นไม่แคล้วคนหยาม
เมืองใดไร้นารีงาม เมืองนั้นหมดความภูมิใจ
เมืองใดไม่มีดนตรีเลิศ เมืองนั้นไม่เพริศพิสมัย
เมืองใดไร้ธรรมอำไพ เมืองนั้นบรรลัยแน่เอย ฯ

สำคัญที่สุดคือ ธรรมอำไพ เพราะหากสิ้นไร้ เมืองนั้น บรรลัยแน่เอย

ณ วันแรงงานนี้ เลยยกตัวอย่าง คังซี ฮ่องเต้ที่ฝึกฝนเล่าเรียนศึกษาเยี่ยงกรรมกร ขยันขันแข็งมานะบากบั่น

ภาพด้านบนคือ กระดาษทดเลขที่อ้างว่าเป็นของคังซี แต่ไม่ค่อยน่าเชื่อเท่าไหร่เพราะหาหลักฐานยืนยันแน่นอนของภาพไม่ได้ แต่มันยืนยันได้ว่า คังซี เป็นฮ่องเต้ที่คนยอมรับด้านคณิตศาสตร์ ส่วนอีกภาพเป็นลายมือคังซีแน่นอน เขียนว่า ลมพายุแรงกระหน่ำและน้ำค้างแข็งหนาวเย็นทำให้เราเห็นความไหวเอน ความแข็งแกร่งหยัดยืนของต้นไม้ใบหญ้าที่ต่างกันได้ฉันใด ในสถานการณ์ที่เลวร้ายก็จะเห็นปัญญาและความหยัดยืนในคุณธรรมของวิญญูชน ความนี้จาก โฮ่วฮั่นซู

ทำไมคนเข้าใจคณิตศาสตร์แต่ชีวิตล้มเหลวไม่ก้าวหน้า ทำไมคนเรียนเก่งหลายคนทำงานไม่ได้เรื่อง ก็เพราะเขาไม่เข้าใจสมการของชีวิตว่า หนึ่งบวกหนึ่ง ไม่ได้เท่ากับ สอง เสมอไป ถ้าลูกค้าบอกว่า เท่ากับสาม เจ้านายบอกว่า เท่ากับห้า แฟนบอกว่า เท่ากับศูนย์ ธรรมชาติมีค่าความลับที่แปลผัน เรียกว่า ค่าของความไม่แน่นอน ภาษาบาลีเรียก อนิจจัง