สัญลักษณ์มงคลจีน

การประดับด้วยอักษรจีน

การประดับอักษรจีนในบ้านหรืออาคาร ไม่เป็นคุณลักษณะที่เหมือนการประดับอักษรไทยหรืออักษรตระกูลเดียวกับไทยเอาไว้ เนื่องจาก จีน เป็นระบบอักษรภาพ การประดับเท่ากับการวาดภาพนึงลงในที่นั่นๆ แต่ของไทยเป็นอักษรเสียง เท่ากับว่าต้องมีคนอ่านก่อน จึงจะสำเร็จความในการประดับนั้น

จะพูดว่า อักษรภาพเป็นพลังฝ่ายหยาง อักษรเสียงเป็นพลังฝ่ายอิน ก็ไม่ผิดนัก การจะทำให้กลายเป็นพลังฝ่ายหยางขึ้นมา ไทยเราจึงได้ ผูกเป็นยันต์ ขึ้นมาในรูปแบบต่างๆ ผสมทั้งสัญลักษณ์และอักขระลงไป ทำไมภาพจึงเป็นฝ่ายหยาง เสียงจึงเป็นฝ่ายอิน นั้นเราพิจารณาเอา มนุษย์เป็นแกน ตาเป็นจักขุณทรีย์ผู้เป็นใหญ่ในการรับ รูป รับ ภาพ รับ แสง ในทางโบราณทั้งจีนและอินเดีย จัดเข้าหมวดธาตุไฟ ไฟธาตุในทางอินเดียหากเอามาเทียบลงจีนให้ความหมายหนักไปทางหยาง คือ เห็นแล้วเกิดความรู้สึกทันทีทันใด นอกจากได้ความหมายต่อให้อ่านไม่ออก ก็ดูฝีแปรงลายเส้น ให้ความรู้สึกได้ ยันต์จีน (ฮู้-符)เลยใช้ อักษรจีนนี่กับลายเส้นตวัดพู่กันเป็นตัวทำงาน คาถาที่เสกกำกับลงไปไม่ใช่ตัวที่ปรากฎบนฮู้ทั้งหมดทุกตัว

อักษรทางไทยต้องมีการอ่าน ใช้โสตินทรีย์คือหูเป็นหลักในการฟัง แดนรับกระทบนี้จัดเป็นธาตุน้ำ พลังจึงเป็นอิน คือ มองไม่เห็นแต่ซึมซาบ เฉกเช่น เสียงธรรมชาติ เสียงดนตรี เสียงบรรเลง หรือ น้ำเสียง ของคนเราด้วย ในบริบทที่ภาษาเรามีโครงสร้างภายใต้พระพุทธศาสนาและพราหมณ์ เราใช้อักขระเช่นนี้ก็เพื่อดำรงถ่ายถอดพระบาฬีด้วย แต่เราแยกไว้ ไม่ใช่ว่า อักขระขอมสูงกว่าไทย แต่เราใช้สองอักขระคู่กันในตำราโบราณ ใช้ขอมสำหรับพระบาฬี(ไม่ใช่แค่ภาษามคธ ในที่นี้แปลว่า คำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วย เรียก พระบาฬี) ไม่ใช้เขียนคำพูดสามัญ ไม่ใช้สื่อสารกันปกติ คือไทยเราเทิดทูนพระพุทธศาสนาแยกแม้นแต่อักษรสำหรับคำพระบาฬี เราใช้ขอม พระเวทย์คาถา เราใช้ขอม ส่วนการสนทนาทั่วไป เราใช้อักษรไทย ล้านนาก็มีการแยกสัญลักษณ์บางตัว กับ ตัวเลข ในการจำแนกว่า นี่พระบาฬีเรียน เลขในธัมม์ กับนี่ เลขปกติ หรือใช้ในทางพระเวทย์ด้วย เรียก เลขโหรา ในขณะที่ใช้อักขระล้านนาในพระบาฬีและการเขียนในชีวิตประจำวันด้วย แต่จำแนกด้วยวัสดุที่ใช้ คือ พระบาฬีจะพบในใบลานทั้งหมด ส่วนคำสนทนาสามัญอาจพบได้ในสมุดข่อย พับสา ยกเว้นตำราทางการแพทย์ หรือคาถาพระเวทย์บางอันมีการจารลงใบลาน แต่ก็จำแนกอีก คือใช้ใบลานขนาดแคบๆสั้นๆ เรียกว่า ลานก้อม (ก้อมแปลว่าชิ้นย่อมลงมา ขนาดย่อลงมา) เพราะใบลานในการจารมีขั้นตอนเยอะกว่าเขียนลงพับสามากนัก

กลุ่มอักษรเสียงเป็นข้อยืนยันการสืบทอดวิชาต่างๆว่า ดั้งเดิมมาจาก มุกขปาถะ คือ การเล่าและจดจำ ฟังสืบต่อกันมา ไม่มีการจดบันทึกลงแต่ประการใด วิวัฒน์การจดจารมีมาในภายหลัง ยันต์ในไทยเราจึงมีการสวดสาธิยายลงกำกับเสียทุกอักขระ คือ เราอ่านหรือบริกรรมทุกอักขระที่จารลงด้วย นอกไปจากคาถาไหว้หรือสักการะตลอดจนเสกเป่าธาตุหรือปลุกของทั่วไป

คนโบราณจึงสร้างพลังฝ่ายอิน ของอักขระให้มีความเป็นหยางมากขึ้น ด้วยการใช้รูปแบบเสียงสูงต่ำ คำคล้องจอง การผันวรรณยุกต์ที่มีมากกว่าของจีน บางท่านอาจว่าจีนแต้จิ๋วมีมากกว่าไทย อันนั้นเป็นการออกเสียงที่ไม่ได้เกิดแค่สูงต่ำ เป็นการผันจากอวัยวะด้วย เช่น เสียงไม่เปิดอ้าปากนัก เสียงขึ้นจมูก เสียงเอื้อนต่างๆ คล้ายกับการเอื้อนขับเสภาหรือทำนองเสนาะของไทยก็มีเช่นนั้น เพียงแต่จีนแต้จิ๋วใช้ในการพูดเลย จึงไม่อาจนับเสียงสูงต่ำแบบนั่นเทียบได้ ยิ่งเสียงต่างๆของจีนเป็นการกำกับแบบจำจากอักษรไม่ใช่กำกับด้วยวรรณยุกต์ในตัวเองแบบไทยเราใช้ อาจดูคล้ายผันเสียงได้มากกว่า ซึ่งหากจะเทียบแบบนั้น อักษรไทยก็ทำได้พอๆกัน

ในอาคารบ้านเรือนไทยเราจึงมักไม่ได้ประดับอักษร เพราะคำสอนส่วนใหญ่ที่เราใช้มาจากพุทธศาสนา เราถือความศักดิ์นั้นมีค่าเท่ากับพระพุทธวัจนะต่ออักขระหนึ่งตัว คนโบราณจะลอกคัดจารทีจะไม่ให้ตกหล่นและต้องนุ่งขาวห่มขาวเข้ากรรมฐานทำ เราใช้แง่ความศักดิ์สิทธิ์ไปในทางลงยันต์ต่างๆ ปิดฝาเรือน เหนือขื่อ บานประตู ปิดหัวเสาเรือน ขณะที่ทางจีนใช้ความมงคลเหล่านี้ผ่านทาง ข้อคิดจากนักคิดต่างๆ แต่มักไม่เขียนพุทธพจน์ด้วยอักษรจีนประดับบ้าน เช่นเดียวกับการสวดมนต์ที่จีนจะเป็นการแปลออกมาหรือบางบทสวดให้ขลังก็ถอดเสียงตามสันสกฤตลงอักษรจีน ซึ่งเสียงก็จะไม่ตรงกับต้นฉบับเท่าใด เมื่อเทียบกับทางไทยที่ยึดการถอดเสียงจากตัวคาถาหรือคำสวดบาลีโดยตรง เสียงใกล้เคียงมากกว่า แต่ก็ต้องแปล บาลีเป็นไทยอีกชั้นนึง เพื่อรักษาความหมายมูลฐานเดิมไว้ หากใครเคยเรียนบาลีคงทราบว่า ภาษาจีนกับบาลีคล้ายกันอย่างนึงคือ คำๆนึง หรือเสียงๆนึง พยางค์นึงเมื่อเอามาถอดความแล้ว บางทีขยายได้หลายบรรทัดทีเดียว

คำถามที่น่าคิดคือ เสียงหวาน กับ ภาพสวย อะไรที่คนเราจับประทับติดตรึงในความทรงจำหรือในจิตใจได้มากกว่ากัน คำตอบก็อยู่ในชีวิตประจำวันแล้ว คุณพูดและฟังกัน มากกว่า คุณวาดภาพให้กันหรือเขียนกระดาษยื่นหากันใช่ไหม ความรู้สึกถูกส่งผ่านเสียงได้ตรงมากกว่าภาพ พอๆกับที่เราฟังบรรเลงดนตรีจากทำนองเราจะรู้อารมณ์ที่ผู้บรรเลงสื่อลงมากกว่าการมองภาพเชิงนามธรรมของศิลปินคนนึง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผมกำลังจะบอกอะไร

กำลังจะบอกว่า เสียง เป็นสิ่งสำคัญมากในทางฮวงจุ้ยและโหราศาสตร์จีนที่คนจีนแทบไม่ได้บันทึกลงไว้สอนในตำรา ว่า การฟังเสียงธรรมชาติในการจัดฮวงจุ้ยนั้นทำอย่างไรบ้าง บอกเอาไว้แต่ในตำรานรลักษณ์ซึ่งเป็นการบอกเชิงเปรียบเทียบกับร่างกายไม่ได้ใช้เสียงทีเดียว อาทิ คนปากเล็กแต่เสียงใหญ่ จะตีความว่าวาสนาดีไม่ได้ ตราบใดยังไม่รู้ว่าครพูดนั้นเตี้ย อ้วน สูง หรือผอมประกอบ คนเสียงทุ้มหนากังวาลยังจะตีความว่าเขามีบารมีมากไม่ได้จนกว่าจะได้มองหน้าผากหรือคิ้วเขา เสียงจึงเป็นสิ่งสำคัญในทางฮวงจุ้ยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ภาพที่ตาเห็น การจัดวาง หรือการประดับอักษร ในที่นี้ คนจีนแก้เอาเสียงมาใช้ด้วยการพรรณาภาพวาดธรรมชาติแล้วแต้มตั้กแตน จั้กจั่นลงนั่นสักตัว วาดภาพกอบัวก็แต้มกบลงไปสักหน่อย วาดภาพปลามีน้ำกระเซนและการเวียนว่าย เสียงในหัวจากธรรมชาติเกิดจากจินตนาการและการจดจำของใครของมันของคนมองเอง จึงต้องมีการกำกับด้วยอักษรลงเป็นกลอนมงคลคู่ข้างๆบ้าง ร่ายพรรณาไว้ในภาพเป็นตัวเล็กๆ ห้อยหน้า ห้อยท้ายภาพที่เรียกว่า ลั่วขว่าน 落款 บ้าง ดังนั้น ที่เราว่าประตูมีชี่ หน้าต่างมีชี่ เป็นทางของชี่เข้าออกแล้วคนมักถามว่า วัดจากอะไร ก็วัดจาก เสียง การเปิดเข้าเปิดออก เสียงย่ำเท้า เสียงเปิดประตู ไขกลอน เทียบกับส่วนอื่นๆของบ้าน ที่ใดมีเสียงตลอดเช่นนี้อีกไหมเล่า เสียงภายนอก ลม ฟ้า ฝน เราได้ยินมากสุดก็ลอดช่องลม ผ่านประตู ผ่านหน้าต่าง คนไทยโบราณก็เห็นเรื่องนี้ จึงประดับประตูหน้าต่างด้วยงานแกะสลักหรือเครื่องแขวนดอกไม้สด ให้ทั้งความงามและกลิ่นหอมโชยมาเอาไว้ อีกที่ๆ ฮวงจุ้ยเน้นให้จัดการ ถ้าเราเข้าใจแล้วว่า เสียงมีความสำคัญ ลองนึกสิว่า เสียงเกิดที่ไหนอีก ส่วนใดของบ้านอีก ลองตอบลงมานะครับ เดียวผมจะมาเขียนเฉลยต่อท้าย มีอีก สองที่สำคัญในบ้าน ที่ให้เสียงแบบนี้ อ่อ ละหากใครจะเถียงว่า เสียงถือเป็น氣ชี่เหรอ ใช่แล้ว เสียงถือเป็นชี่ ถ้าภาพถือเป็นชี่ที่ตารับกระทบได้ อาหารถือเป็นชี่ที่กลืนดื่มดูดซึมได้ รสถือเป็นชี่ที่ลิ้มได้ ชี่มีได้หลายทางตามการจำแนกของเรา ว่าจะใช้บริบทใด แต่คำว่า ชี่ ในทางฮวงจุ้ยเราดูแบบองค์รวมทั้งหมดในโบราณ เพียงแต่คนสมัยนี้ชอบ เน้นไปทาง ตา มากกว่า ต้องวางนั่น จัดนี่ให้สวยให้ดี เพราะตาคู่กับการเคลื่อนกาย ในการ ยืน เดิน นอน นั่ง ใช้สอยพื้นที่ สงบไม่สงบจริงนั้นอยู่ที่ หู ถ้าหากเปิดช่องลมได้อากาศดีจริง แต่ต้องไปนั่งใกล้กับที่เสียงดัง หรือสีเสียงซักล้าง เสียงผายลม เช่น ห้องส้วม ก็คงไม่ดีนัก คนสมัยนี้อาจแก้ไขด้วยการทำห้องชุด อาคาร หรือบ้านแบบกันเสียงภายนอก บ้านข้างๆได้ให้ดีที่สุด ก็ในทางอ้อม เสียงธรรมชาติท่านก็ไม่ได้ยินลงไปด้วย ความรื่นรมย์ชีวิตหายไปโดยปริยาย เสียงกระตุ้นสมองปลุกความสดชื่นของจิตได้ไวกว่า ดีกว่าภาพมากนัก บางทีที่คุณพยายามไปเที่ยวทะเล ขึ้นภูเขา คุณนึกว่าสดชื่นจากอากาศ ได้เห็นภาพงดงามทางตา ใครจะรู้ จริงๆคุณอาจแค่อยากได้ หรือกำลังได้ยินเสียงจากธรรมชาติอยู่ก็ได้ อย่าลืมว่า ความถี่คลื่นเสียงในธรรมชาติมีความซับซ้อนมากพอๆกับแสง แต่ไม่มีใครสามารถปิดรับการได้ยินตนให้เหมือนกับการเอามือปิดตา หรือเราหลับตาได้นะ แปลว่า เสียงกับหูเรา ยังคงทำงานร่วมกันทั้งในที่แจ้ง คือเราได้ยิน กับในที่ลับ เสมอๆ การจัดฮวงจุ้ยจัดห้องในบ้าน สิ่งที่น่าคำนึงจึงไม่ใช่ บ้านควรเงียบ แต่เป็น บ้านควรจะมีเสียงพึงประสงค์อะไรบ้างต่างหาก บ้านที่สามารถได้ยินเสียงคนเดิน คนเปิดประตู มันจะรู้สึกปลอดภัยกว่า บ้านที่เงียบกันเสียง จนเราไม่รู้เลยว่า ใครกำลังไขประตูหน้าบ้านเรา ยกเว้นเราจะออกไปส่องนะ แต่ถ้ามันได้ยินมากเกินไป ก็จะกลายเป็นไม่มีที่ให้สงบอีก เสียงถูกใช้ในกระบวนการสร้างความประทับใจหรือจูงอารมณ์คุณโดยตลอดแต่อาจไม่เคยสังเกตกัน หนหน้าถ้าอยากลดการทานอาหาร ลดการซื้อของแฟน ลองเปิดเพลงทำนองสงบ หรือทำนองใหม่ ให้แฟนใส่หูฟังตอนไปเดินห้าง หรือทานอาหารที่ร้านดู คุณอาจเห็นความเปลี่ยนแปลงก็ได้ เสียง จึงเป็นอิน กระทำแบบลับ ลวง พราง แต่กลับล้วงตับสัมผัสใจคนได้มากกว่าภาพเสียอีก คารมเป็นต่อรูปงามร่างสวยเป็นรอง ก็เพราะเหตุ ฉะนี้ แล

ซินแซหลัว 08/03/2564