เสือกับจีน
ในวัฒนธรรมของประเทศจีนและทวีปเอเชีย เสือ ได้รับการขนานนามว่า “เจ้าป่า” ด้วยมีรูปร่างที่งามสง่าน่าเกรง โดยเฉพาะเสือโคร่งที่มาพร้อมลายพาดกลอนอันคุ้นตา ทว่ามีหลายคนอาจยังไม่ทราบว่าเจ้าแห่งพงไพรนี้มีแหล่งกำเนิดอยู่ที่ประเทศจีนนี่เอง ดังนั้น เสือ จึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของชาวจีนมาช้านาน ทำให้ชาวจีนมีความเชื่อเรื่องบูชา เสือ มาตั้งแต่โบราณกาล โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เคยมีประชากรเสืออาศัยอยู่หนาแน่นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ของประเทศจีน
ณ อาณาจักรแห่งจีนแผ่นดินใหญ่ถือเป็น “บ้านเกิด”ของเผ่าพันธุ์เสือโคร่งยุคปัจจุบัน ราว 2 ล้านปีที่แล้ว “เสือโคร่งจีน” อันเป็นบรรพบุรุษของเสือโคร่งยุคปัจจุบัน อาศัยอยู่ในดินแดนของจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ด้วยกาลเวลาที่หมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน สภาวะอากาศโลกเปลี่ยนแปลง และความจำเป็นในการดำรงชีวิต “บรรพบุรุษเสือโคร่งจีน” จึงได้อพยพลูกหลานไปตามลำน้ำและขุนเขา มุ่งไปยังดินแดนด้านตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าสู่เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือและเอเชียกลาง และได้กลายเป็นต้นตระกูลของเสือโคร่งไซบีเรียและเสือโคร่งแคสเปียน (เช่น เสือเปอร์เซียที่สูญพันธุ์ไปแล้ว) ในบรรดาเสือโคร่งจีนอพยพเหล่านั้น บางส่วนลงไปทางใต้และย้ายไปทางตะวันตกเฉียงใต้ เข้าสู่ดินแดนอุษาคเนย์และอินเดีย อีกบางส่วนไปไกลถึงอินโดนีเซีย และแพร่เผ่าพันธุ์กลายเป็นเสือโคร่งจีนใต้ เสือโคร่งเบงกอล เสือโคร่งอินโดจีน เสือโคร่งสุมาตรา รวมถึงเสือโคร่งชวาและเสือโคร่งบาหลีที่สูญพันธุ์ไปแล้ว ด้วยเผ่าพันธุ์ที่ดำรงคงอยู่คู่กับผู้คนมายาวนานถึง 2 ล้านปี ย่อมทำให้เรื่องราวของเสือเคียงคู่กับประวัติศาสตร์และอารยธรรมของมนุษยชาติ
กล่าวเฉพาะในประเทศจีน มีประเพณียกย่องบูชากราบไหว้สรรพสัตว์และธรรมชาติในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธ์มาตั้งแต่บรรพกาล ซึ่งการสักการะเสือโคร่งถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด ในพจนานุกรมจีนที่เก่าแก่ที่สุด คือ ซัวเหวินเจี่ยจื้อ 《说文解字》กล่าวไว้ว่า “เสือ คือ ราชาแห่งสัตว์ป่า” ขณะที่บันทึกเกี่ยวกับประเพณีการบวงสรวงโบราณ 《风俗通义•祀典》ระบุว่า “เสือ: ธาตุหยาง ผู้นำแห่งสัตว์นับร้อย พิชิตเหยื่อได้อย่างฮึกเหริมและรวดเร็ว กัดกินอาหารราวปีศาจร้าย”
เสือในวัฒนธรรมจีนนั้น ไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญน่าเกรงขาม กำจัดโชคร้ายทำลายเคราะห์ สยบภูติผีขจัดปัดเป่าภัยพิบัติ และนำมาซึ่งความสมหวังโชคดีแล้ว ยังมีประเพณีในการสักการะรูปสลักหินเสือ เพราะเชื่อกันว่าเป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับเทพ เป็นสิ่งเชื่อมกับธรรมชาติ และเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตอันนิรันดร์มาช้านาน ในประวัติศาสตร์ของชนชาติจีนหลายเผ่า ยังกล่าวตรงกันว่า เสือถือเป็นเทพแห่งการเบิกฟ้าดิน (หมายถึงการสร้างโลก) และเจ้าแห่งการดำรงคงเผ่าแพร่พันธุ์ของมนุษย์ อย่างในบทกวีคำกลอนของชนเผ่าอี๋ ระบุว่า “ฟ้าดินตะวันจันทรา ลมฝนฟ้าคะนอง ล้วนกำเนิดและเปลี่ยนแปลงมาจากเสือทั้งสิ้น” ทุกวันนี้ ชนเผ่าอี๋ยังเรียกขานหนุ่มสาวและเสือด้วยนามเดียวกันว่า “หลัวหลัว” ส่วนเผ่าผูหมี่ในมณฑลยูนนาน มีประเพณีบวงสรวงเสือโคร่งขาว และห้ามล่าเสือมาตั้งแต่โบราณกาล ทั้งยังกำหนดให้ปีเสือหรือวันเสือเป็นวันมงคล ส่วนบุตรที่เกิดในปีขาลหรือวันขาลถือเป็นสมบัติล้ำค่า ขณะที่เผ่าเห้อเจ๋อในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของแดนมังกร เคารพบูชาเสือในฐานะ “เทพเจ้าแห่งป่า” และสร้างวัดวาเพื่อบวงสรวงกราบไหว้ ส่วนชนเผ่าถู่ในอำเภอถงเหริน เมืองหวงหนัน ในมณฑลชิงไห่ แต่ละปีในวันที่ 5 – 20 เดือนสิบเอ็ด ตามปฏิทินจันทรคติ จะมีการจัดพิธีขับไล่ภูติผีปีศาจและโรคร้าย รวมทั้งพิธีกระโดดเสือเพื่อขอพรนำความสงบสุข
ทางฟากเกาะเป๋าเต่าในไต้หวัน ศาลพระภูมิเจ้าที่ทั้งหลายล้วนมีตำแหน่งที่ตั้งของ “เทพเจ้าเสือ” โดยเชื่อว่าจะเป็นเทพที่คอยปกปักรักษาและนำพาทรัพย์สินเงินทองมาให้ ในพิธีบูชาเจ้าแม่ทับทิมของแต่ละปี ยังมีการอัญเชิญเทพเจ้าเสือนำขบวนเสมอ
นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้คนอาศัยรูปลักษณ์ของเสือเป็นตัวแทนในการสืบทอดศรัทธาและส่งมอบความสุข หนุนส่งอานุภาพและอำนาจบารมี นอกจากนั้น ชาวจีนยังนำชื่อ “เสือ” มาเรียกขานเชิงเชิดชูผู้ที่เป็นเอกในด้านต่างๆ อาทิ
“ขุนพลเสือ” : แม่ทัพนายกองที่รบชนะสิบทิศ เข้มแข็งและเคร่งขรึมน่าเกรงขาม“ทหารเสือ” : นักรบที่องอาจห้าวหาญชำนาญศึก และอยู่แนวหน้าเสมอ
“ขุนนางเสือ” : ขุนนางที่จงรักภักดี แกร่งกร้าวและหยิ่งในศักดิ์ศรี กล้าพลีชีพเพื่อชาติ
“ลูกเสือ” : เด็กที่มีปณิธานที่จะเติบโตก้าวหน้า ขยันหมั่นเพียรร่ำเรียนวิชา
ท่ามกลางศิลปวัฒนธรรมจีนที่สั่งสมมายาวนานกว่า 5,000 ปี ยังมีสิ่งบ่งชี้ถึงค่านิยมสูงส่งเกี่ยวกับเสือไว้มากมาย จากหลักฐานจารึกบนกระดองเต่าและกระดูกสัตว์ เริ่มพบตัวอักษรภาพ “虎 (หู่)” ที่หมายถึงเสือ ส่วนเครื่องใช้ทองสัมฤทธิ์ในยุคราชวงศ์ซางและราชวงศ์โจว ได้สะท้อนเสน่ห์ของเสือไว้ให้ชื่นชม ในยุคชุนชิว-จ้านกั๋ว ก็มีงานศิลปะรูปเสือหลากหลาย อาทิ ตะขอเข็มขัดหัวเสือ ซึ่งมักใช้เพื่อแสดงอำนาจดุจเจ้าแห่งป่าของผู้สวมใส่ ส่วนผู้ที่ต้องการสัมผัสถึงท่วงท่าสง่างามของเสือ ให้ดูผ่านงานแกะสลักและภาพวาดรูปเสือในสมัยราชวงศ์ฮั่น ฯลฯ
ในวิถีชีวิตของผู้คน เราต่างพบเรื่องราวการเคารพบูชาเสือ ยกย่องเสือ รักเสือ หรือแม้กระทั่งกลัวเสือ ทว่าเมื่อประวัติศาสตร์เดินทางมาถึงปัจจุบัน มนุษย์ได้ตัดไม้โค่นป่า ทำให้แหล่งน้ำแห้งเหือด ทะเลทรายขยายตัว อากาศร้อนขึ้น และสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ชะตากรรมของ “เจ้าป่า” ที่เคยยิ่งใหญ่น่าเกรงขาม จึงไม่ต่างจากชะตะกรรมของสัตว์อื่นอีกหลายประเภท ที่กำลังเสี่ยงต่อภาวะสูญพันธุ์
ในวาระที่กำลังจะเข้าสู่ปีเสืออีกครั้ง หากสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง หวังเป็นอย่างยิ่งจะช่วยดลใจผู้คน ให้หันกลับมาอนุรักษ์เสือ อนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งจะเป็นการปกปักษ์รักษาการดำรงคงอยู่ของมนุษยชาตินั่นเอง เพื่อให้ปีขาลที่จะเวียนมาถึงอีกครา พงไพรในวันหน้าจะไม่ไร้ร่างของ “เจ้าป่า” อีกต่อไป
ข้อมูลจาก www.wenming.cn และ มติชนเวปไซต์