อธิษฐานอะไร ในพุทธศาสนา

อธิษฐานธรรม

อธิษฐานธรรม

อธิษฐาน ให้ครบสี่
เพื่อความสุขและความสำเร็จในชะตาชีวิต

อธิษฐานธรรม คือธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ ๔ อย่าง
๑. ปัญญา รอบรู้สิ่งที่ควรรู้
๒. สัจจะ ความจริงใจ คือประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้จริง
๓. จาคะ สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ
๔. อุปสมะ สงบใจจากสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ

ปัญญา สัจจะ จาคะ อุปสมะ ทั้ง ๔ อย่างนี้ ชื่อว่า อธิษฐานธรรม ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ เพราะเป็นหลักธรรมประจำใจ เป็นเครื่องนำทางแห่งความประพฤติปฏิบัติของบุคคลให้ดียิ่งๆ ขึ้น

๑. ปัญญา แปลว่า ความรอบรู้สิ่งที่ควรรู้ หมายความว่า รู้ทั่วทุกด้าน รู้ทั้งเหตุทั้งผล รู้เบื้องต้นเบื้องปลาย ในสิ่งที่ควรรู้ทั้งคดีโลกทั้งคดีธรรม มีทั้งขั้นต่ำคือโลกิยปัญญา มีทั้งขั้นสูงคือโลกุตตรปัญญา

ในที่นี้จะอธิบายทั้งปัญญาในคดีโลกและคดีธรรม ปัญญาคดีโลกได้แก่ความรอบรู้ศิลปวิทยาสาขาต่างๆ ที่เป็นแนวทางประกอบสัมมา-อาชีพ ให้ทรัพย์สมบัติ และอิสริยยศ บริวารยศเกิดขึ้น ปัญญาคดีธรรมได้แก่ความรอบรู้เรื่อง ปาป-บุญ- คุณ-โทษ สุข-ทุกข์ ทั้งส่วนเหตุส่วนผล เรื่องธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ เป็นต้น

๒. สัจจะ แปลว่า ความจริงใจ คือประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้จริง เรื่องสัจจะนี้มีทางอธิบายได้มาก ในที่นี้จะได้อธิบายเพียง ๓ อย่าง คือ
ก. จริงการงาน ได้แก่ตั้งใจทำการงานที่ปราศจากโทษ งานที่มีประโยชน์ งานที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรง ไม่เกินขีดความสามารถ.
ข. จริงความประพฤติ ได้แก่ประพฤติดีจริงทางกาย วาจา ใจจะทำ จะพูด จะคิดสิ่งใดๆ ก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ทั้งแก่ตนและแก่ผู้อื่น.
ค. จริงใจ ได้แก่ตั้งใจจริง คือตั้งใจว่าเราต้องซื่อสัตย์สุจริตต่อการงานหน้าที่ ต่อเวลา และต่อบุคคล เราต้องจริงต่อความประพฤติ คือควบคุมตนเองให้ประพฤติดีเสมอไป

๓. จาคะ ในที่อื่น แปลว่า สละให้ปันสิ่งของๆ ตนแก่ผู้อื่น แต่ในที่นี้ แปลว่า สละสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความจริงใจหมายความว่า เมื่อบุคคลตั้งใจจริง กระทำสิ่งที่ดี ประพฤติดี มักจะมีอุปสรรคเข้ามาขัดขวางให้เสียการเสียงาน เสียความตั้งใจจริงไปบ้างไม่มากก็น้อย

อุปสรรคนั้น บางทีท่านเรียกว่า “มาร” คำว่า มาร แปลว่า ผู้ฆ่าพระ คำว่า พระ แปลว่า ผู้ประเสริฐ หรือผู้ดี ความดี ความประเสริฐ เช่นผู้ตั้งใจจะให้ทาน ก็มีความตระหนี่ เกิดเป็นมารขัดขวางไว้หรือฆ่าเสีย ผู้ตั้งใจจะรักษาศีล ก็มีความโลภบ้าง ความโกรธบ้าง ความหลงบ้าง เป็นมารขวางไว้หรือฆ่าเสีย

๔. อุปสมะ แปลว่า ความสงบใจจากที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ หมายความว่า การระงับ หรือการเข้าไประงับ ได้แก่การปราบ หรือการเข้าไปปราบสิ่งที่เป็นข้าศึกแก่ความสงบ. ความสงบตรงกับบาลีว่า สันติ มี ๓ อย่าง คือ สงบกาย สงบวาจา สงบใจ
สงบกาย นั้น ได้แกการกระทำทางกายดี สงบเรียบร้อย ไม่จุ้นจ้าน ล่วงละเมิดศีล ระเบียบ ประเพณีอันดีงาม
สงบวาจา นั้น ได้แก่การพูดดีเป็นวจีสุจริต พูดในกาลและสถานที่อันสมควร และไม่พูดในกาลและสถานที่อันไม่ควรพูด
สงบใจ นั้น ได้แก่การคิดดีเป็นมโนสุจริต และความที่จิตไม่ถูกข้าศึกรบกวน เป็นจิตใจที่สงบเยือกเย็นเป็นสุขผ่องใส ดุจพระจันทร์ในวันเพ็ญลอยเด่นในท้องฟ้าอันปราศจากเมฆหมอก

การอธิษฐานตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ผู้อธิษฐานจะต้องเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อให้การอธิษฐานสัมฤทธิ์ผลไม่ใช่อธิษฐาน แล้วก็นั่งคอยให้เทวดาฟ้าดินที่ไม่มีตัวตนมาดลบันดาลให้ ฉะนั้นก่อนอธิษฐานผู้อธิษฐานต้องใช้ปัญญาพิจารณาเสียก่อนว่าสิ่งที่อธิษฐาน นั้นตนสามารถปฏิบัติได้เองหรือไม่เป็นไปได้เพียงใด

ใจ ในที่นี้คือ ความคิด

มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา
มโนเสฎฺฐา มโนมยา
มนสา เจ ปทุฎฺฌฐน
ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ ทุกฺขมเนฺวติ
จกฺกํว วหโต ปทํ ฯ

ใจเป็นผู้นำสรรพสิ่ง
ใจเป็นใหญ่(กว่าสรรพสิ่ง)
สรรพสิ่งสำเร็จได้ด้วยใจ
ถ้าพูดหรือทำสิ่งใดด้วยใจชั่ว
ความทุกข์ย่อมติดตามตัวเขา
เหมือนล้อหมุนเต้าตามเท้าโค

มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา
มโนเสฎฺฐา มโนมยา
มนสา เจ ปสนฺเนน
ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต นํ สุขมเนฺวติ
ฉายาว อนปายินี ฯ2ฯ

ใจเป็นผู้นำสรรพสิ่ง
ใจเป็นใหญ่(กว่าสรรพสิ่ง)
ถ้าพูดหรือทำสิ่งใดด้วยใจบริสุทธิ์
ความสุขย่อมติดตามเขา
เหมือนเงาติดตามตน

อกฺโกฉิ มํ อวธิ มํ
อชินิ มํ อหาสิ เม
เข จ ตํ อุปนยฺหนฺติ
เวรํ เตสํ น สมฺมติ ฯ

ใครมัวคิดอาฆาตว่า
“มันด่าเรา มันทำร้ายเรา
มันเอาชนะเรา มันขโมยของเรา”
เวรของเขาไม่มีทางระงับ

อกฺโกฉิ มํ อวธิ มํ
อชินิ มํ อหาสิ มํ
เข จ ตํ นูปนยฺหนฺติ
เวรํ เตสูปสมฺมติ ฯ

ใครไม่คิดอาฆาตว่า
“มันด่าเรา มันทำร้ายเรา
มันเอาชนะเรา มันขโมยของเรา”
เวรของเขาย่อมระงับ

น หิ เวเรน เวรานิ
สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ
อเวเรน จ สมฺมนฺติ
เอส ธมฺโม สนนฺตโน ฯ

แต่ไหนแต่ไรมา ในโลกนี้
เวรไม่มีระงับด้วยการจองเวร
มีแต่ระงับด้วยการไม่จองเวร
นี้เป็นกฎเกณฑ์ตายตัว

ปเร จ น วิชานนฺติ
มยเมตฺถ ยมามเส
เย จ ตตฺถ วิชานนฺติ
ตโต สมฺมนฺติ เมธคา ฯ

คนทั่วไปมักนึกไม่ถึงว่า ตนกำลังพินาศ
เพราะวิวาททุ่มเถึยงกัน
ส่วนผ้ร้ความจริงเช่นนั้น
ย่อมไม่ทะเลาะกันอีกต่อไป

ที่มา บทเรียนนักธรรมตรี

กันยายน 20, 2016

ป้ายกำกับ:,