พื้นฐานวิชาโหราศาสตร์จีน ที่เข้าใจผิดใหญ่หลวง
無極而太極 (อู๋จี๋เอ๋อไท่จี๋) ที่ชอบเอาไปพูดกันแบบผิดๆว่า 無極生太極 (อู๋จี๋เซิงไท่จี๋)
ผิดกันแค่อักษรจีนตัวกลางตัวเดียว 而 (เอ๋อ) กับ 生 (เซิง) แต่ความหมายผิดกันไปเยอะ ประกอบกับความช่างจินตนาการของผู้ไม่รู้และไม่ได้ทำการสืบค้นตำราจีนให้แน่ชัดก็แต่งประโยคต่อท้ายเติมไปมากมาย
而 แปลว่า เมื่อเทียบระหว่าง….กับ…. หรือ ระหว่าง
生 แปลว่า หนุน ส่งเสริม กำเนิด
ดังนั้น ที่ผิดคือ แปลว่า อู๋จี๋เซิงไท่จี๋ แล้วไปแปลเติมว่า สภาวะความว่าง ไปก่อให้เกิด สภาวะความมีอย่างสุดโต่ง หรือ บ่เก็ก เกิด ไท้เก็ก อย่างไรก็ตามที่แปลๆกัน ล้วนผิดทั้งสิ้น 周敦颐 โจวตุ้ยอี๋ คือ คนที่อธิบายเรื่องนี้คนแรกๆ จริงแล้วต้นตอมาจากภาพ 太極圖 ก็ได้อธิบายไว้ว่า
無極而太極,太極動而生陽,動極而靜,靜而生陰,靜極復動。
一動一靜互為其根,分陰分陽,兩儀立焉,陽變陰合,而水火木金土五氣順布,四時行焉。
五行一陰陽也,陰陽一太極也,太極本無極也。
無極而太極 อธิบาย
สภาวะสูญหรือสภาวะดับ (ไม่ใช่แค่ว่าง แต่คือความดับโดยไม่เหลือสิ้น) เมื่อเทียบกับ สภาวะเกิด นั้น สภาวะเกิดคือการเคลื่อนไหว การขยับ การกระทบ นี้แลคือ สภาวะที่เรียกว่า หยาง
แปลตามสภาวธรรมคือ เพราะมีการกระทบ (動) นั้นแหละ นามรูปจึงเกิดขึ้น กระทบของอะไร กระทบของ สฬายตนะ หรือ อายตนะทั้ง หก ทั้งภายนอกและภายใน พูดคร่าวๆสำหรับคนไม่ปฏิบัติธรรมคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั้นหละ หกอัน ได้รับการกระทบ จึงเกิด รูป และเกิดนาม อันได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ออกมา
สภาวะตามเป็นจริงในธรรม หรือธรรมชาติ ย่อมมีการกระทบ(เกิด) และ ดับ อยู่เสมอ เกิดนั้นแลคือการกระทบ กระทบนั้นแลจึงเกิดมี ส่วนดับนั้นก็คือผลคู่ตรงข้ามของความเกิด ย่อมมีความดับ สภาพธรรมชาติเลยมีการเปลี่ยนแปรไป คือมีเกิดมีดับ ดังนั้น 無極而太極 เลยแปลว่า สภาวะความดับ และ สภาวะความเกิด นั้นอยู่คู่กัน
太極動而生陽 อธิบาย
สภาวะเกิด หรือการเกิด คือการเคลื่อนไหว การขยับ การกระทบ นี้แล จึงก่อเกิด พลังหยาง หรือ เรียกการกระทบ การเคลื่อน ขยับ นี้ว่า พลังหยาง
動極而靜 อธิบาย
เมื่อ ขยับ หรือ กระทบ แล้ว ที่สุดก็ย่อม นิ่ง ย่อม สงบ
靜而生陰 อธิบาย
สภาวะ นิ่ง สงบ นี้แล กำเนิดก่อเกิด พลังหยิน
靜極復動 อธิบาย
เมื่อ นิ่ง สงบ ที่สุดแล้วก็ย่อมเกิดการสะเทือน ขยับ กระทบ ออกมาอีก
一動一靜互為其根,分陰分陽 อธิบาย
ตามหลักการของพลังงานที่ไม่ได้สูญหายไปไหนเพียงแค่เปลี่ยนรูป เมื่อขยับย่อมถ่ายเทใช้พลังงานออก ออกมาจนไม่มีอะไรให้เป็นพลังขยับก็นิ่งลง นิ่งลงก็กักเก็บพลังกลับมาทำให้พลังฟื้น เก็บมากเข้าก็เลยขยับต่ออีกรอบ หมุนเวียนไม่หยุด เกิด ดับ เรื่อยไป 一 ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า หนึ่ง และไม่ได้แปลว่า อันนึงขยับ อันนึงนิ่ง แต่แปลว่า ประเดี๋ยวขยับ ประเดี๋ยวนิ่ง ประเดี๋ยวยิน ประเดี๋ยวหยาง นี้แหละคือต้นตอ เลยสามารถแยกแยะ ยินหยางออกมาได้
兩儀立焉 อธิบาย
เหตุฉะนี้ ข้างต้นแล ทำให้ หยีคู่/สองหยี (兩儀) ชัดเจนขึ้นมาได้ สองหยี(儀)นี้คืออะไร ก็คือ 陽 หยาง และ 陰 หยิน
陽變陰合 อธิบาย
พลังหยาง ทำให้เปลี่ยนแปรสภาพ ขยับ (วิเคราะห์)
พลังหยิน ทำให้สมาน ประสานกัน รวมกัน (สังเคราะห์)
而水火木金土五氣順布,四時行焉。
เหตุฉะนี้ น้ำ ไฟ ไม้ ทอง ดิน ห้าชี่ (ทำไมเค้าไม่เรียง ดิน ทอง น้ำ ไม้ ไฟ เพราะเค้าเรียกตาม สภาวะความตรงข้ามของ ยินหยาง คือ น้ำตรงข้ามไฟ ไม้ตรงข้ามทอง) ไหลเวียนเปลี่ยนหมุน สี่ฤดูจึงได้ผันแปรเคลื่อนคล้อยไป
นี้คือคำเต็มๆของ อู่สิง 五行 ที่แปลกันผิดว่า ธาตุ หรือ หนทาง หรือช่องทาง ซึ่งเป็นคำนาม
五氣順布
四時行焉
ห้าชี่เหลียนเวียน สี่ฤดูจึง 行 คือหมายถึง เกิดมี เปลี่ยนแปร เคลื่อนคล้อย เป็นวัฏจักร
คำแปลเหล่านี้ แปลมากว่าพันปีแล้ว โดยท่าน 周敦颐 โจวตุ้ยอี๋ ราชบัณฑิตใหญ่ราชวงศ์ซ้อง ถ้าใครนึกไม่ออกก็คือ ราวๆ ราชวงศ์ของเปาบุ้นจิ้นนั้นครับ
ส่วนวลียอดนิยมอีกอันคือ
(無極生) 太极,是生两仪,两仪生四象,四象生八卦,
คำในวงเล็บคือ คำแต่งใหม่ ไม่ได้มีในตำรา แต่เผยแพร่ทั่วไป และชอบนำมาอ้าง ทั้งนี้ได้อธิบายความหมายข้างต้นไปแล้ว เพราะฉะนั้น วลีนี้เริ่มด้วย
太极,是生两仪,两仪生四象,四象生八卦,
สภาวะเกิดนั้นแล เกิด หยีคู่นึง หยีคู่(หยิน/หยาง)นี้แล ที่กำเนิด 四象 สี่ลักษณะ ซึ่งถ้าคุณเอาคำนี้ไปหาในกูเกิ้ล คุณจะเจอมันแปลว่า สี่ทิศใหญ่ฮวงจุ้ย หรือ ดวงดาวก็ตาม อันได้แก่ มังกรเขียว(จริงๆไม่ใช่เขียว ผมเป็นคนแรกในไทยที่แปลว่า ชิง ซึ่งเผยแพร่ในเวปนานแล้ว) เสือขาว กระจิบสีชาด (นี่ก็ผมแปลให้คนแรก แต่ไม่ค่อยมีใครเอ่ยถึง ยังคงแปลกันว่า หงส์แดง) และเต่างูมีพลัง หรือ เต่างูดำ (เพราะภาษาจีนไม่ได้เขียนคำว่า ดำ ลงไว้) ซึ่งหาเป็นเช่นนั้นไม่ ในความจริงแล้ว 四象 ซื่อเซี่ยง แทนด้วย สี่ฤดู แห่งกาลเวลา เพราะคำต่อมา 四象生八卦 ซื่อเซี่ยงเซิงปากว้า เพราะ สี่ฤดูที่เปลี่ยน ซึ่งหมายถึง กาลเวลา ทั้งภูมิประเทศภูมิอากาศ สภาพต่างๆในธรรมชาติที่เปลี่ยนนี่หละ ทำให้เกิด ทฤษฎีปากว้า ขึ้นมา ไม่ใช่สัตว์เทพสี่ทิศ เกิดปากว้าออกมา
วลีนี้ ฉบับเต็มๆ กล่าวไว้อย่างไร
กล่าวว่า 是故易有太极,是生两仪,两仪生四象,四象生八卦,八卦生吉凶,吉凶生大业。
อธิบายความว่า เพราะเหตุที่ อี้ 易 (ทุกขัง) มี ไท่จี๋ แล้วก็กำเนิด หยีคู่นึง สองหยีนี้แหละที่เกิด สี่ฤดู สี่ฤดูนี้เกิดปากว้า หรือ โป็ยข่วย ปากว้านี้แหละที่ทำให้เกิด ดี หรือ ร้าย มงคล หรือ อวมลคล แล เพราะ ดีหรือร้าย นี้แล ทำให้เกิด พฤติการณ์อันยิ่งใหญ่ทั้งหลายในธรรมชาติ
อธิบายไว้โดย ขงจื้อ เมื่อหลายพันปีที่แล้ว
ภาพยินหยาง จึงไม่ได้เป็นภาพแสดง วัตถุเดียวที่มีทั้งยินหยางข้างในอย่างเดียว แต่แทนสภาพธรรมชาติด้วย ที่มีคู่ตรงข้ามแต่หมุนเวียนกัน เกิด ดับ แล้ว ดับ ก็ เกิด หมุนเวียนไปมา ไม่หยุด คำสำคัญคือ คู่ตรงข้ามที่สลับกันหมุนเวียนไม่หยุด แค่นี้เอง สองจุดที่เราเห็นนั้น มาจาก ตาปลา ของภาพ ยินหยางโบราณ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับ ในยินมีหยาง ในหยางมียิน
ถือว่าปัญญาดี มิได้มีความเพียรเรียน