Logo

ดูดวงจีน ดูฮวงจุ้ย ซินแสหลัว 罗先生

ดวงจีน อี้จิง ฮวงจุ้ย ให้ความรู้ ให้คำปรึกษา ด้วยวิชาโหราศาสตร์จีน ดวงจีน และความรู้ ฮวงจุ้ย ที่มาจากตำราจีนแท้ๆ สืบทอดมาจริงแต่โบราณนับพันปี และการแพทย์

  • หน้าแรก
  • รีวิว ดวงจีน-โหราศาสตร์จีน
  • รีวิว ฮวงจุ้ย
  • ซินแสขอแนะนำ
  • ข้อสงสัยที่พบบ่อย
  • *บทสวดมนต์
  • กองทุน โหราศาสตร์จีน
  • ติดต่อดูดวงจีน / ฮวงจุ้ย

จัดเต็มกิจกรรมที่ทำใน วันตรุษจีน


ตรุษจีนปีนี้

เทศกาลต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ ที่เรียกว่า ชุนเจี๋ย (春节) หรือ ตรุษจีน ถือเป็นประเพณีเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ที่ยิ่งใหญ่ของชนชาวฮั่น และยังถือเป็นการเริ่มต้นฤดูเพาะปลูกด้วย โดยกำหนดให้วันที่ 1 เดือน 1 ตาม ปฏิทินจันทรคติ เป็น วันเริ่มต้นปีใหม่ ในอดีตช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง จะเริ่มตั้งแต่พิธีเซ่นไหว้ เทพเจ้าเตาไฟ ในวันที่ 23 หรือ 24 ของปีเก่า จนถึงเทศกาลหยวนเซียวหรือเทศกาลโคม (แรม 15 ค่ำเดือนอ้าย) โดยแต่ละช่วงจะมีพิธีกรรมธรรมเนียมปฏิบัติที่แตกต่างกัน บางส่วนยังคงสืบทอดกันมาถึงยุคปัจจุบัน ขณะที่บางส่วนได้เลือนหายไป หรือแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

ฝูเต้า-คำอวยพรตรุษจีน

ตัวอักษร ฝูกลับหัว (福倒) โชคความสุขได้มาถึงบ้านแล้ว

ติด “ฝูกลับหัว” (福倒) โชคมงคลได้มาถึงบ้านแล้ว ระหว่าง เทศกาลตรุษจีน ชาวจีนนอกจากนิยมตกแต่งบ้านเรือนด้วยกระดาษแดง ภาพวาด และภาพกระดาษตัดสีสันสดใส สร้างบรรยากาศของความสนุกสนานรื่นเริง และเพื่อเป็นการต้อนรับความสุขและขอโชคขอพร ก็ยังนำอักษรมงคล เช่นตัว ‘福’ (ฝู) หรือตัว 春 (ชุน) มาติดที่บานประตูหน้าบ้าน ตามกำแพง หรือบริเวณเหนือกรอบบนของประตู  การติดอักษรมงคลที่แพร่หลายที่สุด คือ 福 เป็นประเพณีมีมาตั้งแต่ก่อนสมัยซ่ง และมักติดกลับหัวซึ่งในภาาษจีนกลางเรียก 福倒 (ฝูเต้า)ที่มีความหมายว่า สิริมงคลหรือโชคดีได้มาถึงบ้านแล้ว  เรื่องการกลับหัวตัวอักษรนี้มีเหตุที่มาเมื่อครั้งอดีตกาล ซึ่งเล่าสืบกันมาในหมู่สามัญชนว่า “สมัยจักรพรรดิหมิงไท่จู่จูหยวนจางแห่งราชวงศ์หมิง ได้ใช้อักษร‘ฝู’เป็นเครื่องหมายลับในการสังหารคน หม่าฮองเฮาทราบเรื่องจึงคิดอุบายเพื่อหลีกเลี่ยงภัยดังกล่าวไม่ให้เกิดแก่ราษฎร ด้วยมีพระราชเสาวนีย์ให้ทุกบ้านติดตัวฝูที่หน้าประตูเพื่อลวงให้ฮ่องเต้สับสน  “รุ่งขึ้นชาวเมืองต่างนำตัวอักษรฝูมาติดที่หน้าประตูตามนั้น ทว่ามีบ้านหนึ่งไม่รู้หนังสือจึงติดตัวฝูกลับหัวด้วยความไม่ตั้งใจ เมื่อฮ่องเต้ทอดพระเนตรเห็นเข้าก็ทรงกริ้ว รับสั่งให้ประหารคนในบ้านทั้งหมด หม่าฮองเฮาเห็นท่าไม่ดีจึงรีบทูลยับยั้งไว้ว่า ‘บ้านนี้ทราบว่าพระองค์จะเสด็จมา จึงตั้งใจติดตัวฝูกลับหัว ( 福倒-ฝูเต้า) เพื่อแสดงความปิติยินดีต่อการเสด็จเยือนของพระองค์ ราวกับว่าความสุขสวัสดีและโชคลาภได้มาถึงที่บ้าน’ ได้ยินดังนี้แล้วจูหยวนจางจึงไว้ชีวิตชาวบ้านผู้นั้น การติดตัวฝูกลับหัวสืบต่อมานอกจากเพื่อขอโชคสิริมงคลตามความหมายของตัวอักษรแล้ว ยังเป็นการระลึกถึงคุณความดีของหม่าฮองเฮาในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย” วาจาประดุจดั่งอาวุธครับ เรื่องบางเรื่อง ขอแค่รู้จักพูดแค่นั้นก็พลิกร้ายกลายดีได้ แบบเรื่องการติดคำอวยพรจีนนี้

เหมินเสิน-เทพประตู

 

เชิญ เทพผู้พิทักษ์ประตู

ในวันส่งท้ายปีเก่าหรือที่เรียกว่า ฉูซี (除夕) ชาวจีนมีธรรมเนียมในการติด ‘เหมินเสิน (门神)’ หรือ ภาพ เทพเจ้าผู้คุ้มครองประตู ‘เหมินเสิน’ มีประวัติความเป็นมาค่อนข้างยาวนาน ในอดีตกาลจะถือตัวประตูเป็นเทพเจ้าโดยตรง จนกระทั่งหลังสมัยราชวงศ์ฮั่น (202 B.C.- ค.ศ.220) จึงได้ปรากฏการใช้ภาพคนมาเป็นตัวแทนเทพเจ้า แรกเริ่มเดิมทีใช้ภาพนักรบผู้กล้านามว่า ‘เฉิงชิ่ง (成庆)’ ต่อมาเปลี่ยนเป็นภาพวาดของ ‘จิงเคอ (荆轲)’ จอมยุทธ์ชื่อดังสมัยจ้านกั๋ว (475 – 221 B.C.) เหมินเสิน’ ในราชวงศ์ใต้และเหนือ (ค.ศ.420 – 589) จะเป็นภาพคู่เทพเจ้าสองพี่น้อง ‘เสินถู (神荼)’ ‘ยูไล (郁垒)’ ตลอดจนสองขุนพลเอกในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618 – 907) ที่มีชื่อว่า ‘ฉินซูเป่า (秦叔宝) และอี้ว์ฉือจิ้งเต๋อ (尉迟敬德)’แต่ต่อมากษัตริย์ถังไท่จงหลี่ซื่อหมินรู้สึกเห็นใจว่าสองขุนพลจะลำบากเกินไป จึงได้สั่งให้จิตรกรหลวงวาดภาพสองขุนพลขึ้นมา แล้วใช้ติดไว้ที่ประตูทั้งสองข้างแทน จึงได้กลายเป็นภาพ ‘เหมินเสิน’ ในเวลาต่อมาเมื่อถึงยุค 5 ราชวงศ์ (ค.ศ.907-960) ได้เริ่มนำภาพของ จงขุย (钟馗) เทพผู้ปราบภูตผีปีศาจ มาติดเพื่อเป็นสิริมงคลด้วย

หลังราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960 – 1127) ‘เหมินเสิน’ ยังมีรูปแบบเหมือนก่อนหน้านั้น แต่เพิ่มการประดับตกแต่งบ้านเรือนให้สวยงามขึ้น ในห้องรับแขกและห้องนอนจะมีการติดภาพเทพเจ้า 3 องค์ (三星) ที่เราคุ้นหูกันดีว่า ‘ฮก ลก ซิ่ว (福 – 禄 – 寿)’ นอกจากนั้น ยังมีภาพชุมนุมเทพเจ้า (万神图) ตามอย่างลัทธิเต๋า และภาพพระพุทธเจ้า 3 ปาง ซันเป่าฝอ (三宝佛) ฯลฯ ด้วย  ว่ากันว่า การติดภาพ ‘เหมินเสิน’ ก็เพื่อป้องกันขับไล่สิ่งชั่วร้าย หรือเป็นเสมือนเทพผู้คอยปกปักษ์รักษานั่นเอง

เหนียน

 

สัตว์ประหลาดในคติปรัมปราจีน ที่มาทำร้านผู้คนในคืนส่งท้ายปีเก่า

ชาวจีนมีตำนานเล่าขานเกี่ยวกับ “ฉูซีเยี่ย (除夕夜)” หรือ คืนส่งท้ายปีเก่าว่า ในยุคโบราณสมัยที่เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ มีสัตว์ประหลาดที่ดุร้ายมากตัวหนึ่ง ชื่อว่า “เหนียน (年)” ทุกปีในคืนวันส่งท้ายปี จะขึ้นจากทะเลมาอาละวาดทำร้ายผู้คนและทำลายเรือกสวนไร่นา ในวันนั้นของทุกปีชาวบ้านจึงมักจะหลบกันอยู่แต่ในบ้านตั้งแต่ฟ้ายังไม่มืด ปิดประตูหน้าต่างแน่นหนา และไม่หลับไม่นอนเพื่อเฝ้าระวัง รอจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้นจึงเปิดประตูออกมา และกล่าวคำยินดีแก่เพื่อนบ้านที่โชคดีไม่ถูก “เหนียน” ทำร้าย

 ในคืนส่งท้ายปีของปีหนึ่ง “เหนียน” ได้เข้าไปอาละวาดในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง กินชาวบ้านจนเรียบ ยกเว้นคู่บ่าวสาวที่เพิ่งแต่งงาน เนื่องจากสวมชุดสีแดงจึงปลอดภัย และเด็กคนหนึ่งที่กำลังเล่นประทัดอยู่กลางถนน ซึ่งเสียงดังจนทำให้ “เหนียน” ตกใจกลัวหนีไป ชาวบ้านจึงรู้จุดอ่อนของ “เหนียน”

 ดังนั้น เมื่อถึงคืนส่งท้ายปีเก่า ชาวบ้านจึงพากันสวมใส่เสื้อผ้าสีแดง นำสิ่งของที่มีสีแดงมาประดับตกแต่งบ้านเรือน และจุดประทัด ทำให้ “เหนียน” สัตว์ประหลาดตัวร้ายไม่กล้าออกมาอาละวาดอีก ชาวบ้านจึงอยู่กันอย่างสงบสุข จากนั้นมาจึงมีธรรมเนียมปฏิบัติ ในคืนส่งท้ายปีจะไม่ยอมนอนเพื่อ “เฝ้าปี” หรือเรียกในภาษาจีนว่า โส่วซุ่ย(守岁) เฝ้าดูปีเก่าล่วงไปจนวันใหม่ย่างเข้ามา

 ในคืน “เฝ้าปี” สมาชิกในบ้านมีกิจกรรมร่วมกันมากมาย ทั้งด้านการกินและดื่ม ไม่ว่าจะเป็นอาหารทั่วไป เกี๊ยว เหนียนเกา (ขนมเข่ง) เหล้า เบียร์ เมล็ดแตง ของว่าง การเล่นเกม ซึ่งส่วนใหญ่ก็เล่นกันในห้องรับแขก เช่นผู้ใหญ่ก็เล่นหมากล้อม หมากฮอร์ส ไพ่กระดาษ ไพ่นกกระจอก ส่วนเด็กๆ ก็มีเกมแบบเด็กๆ เช่น ขี่ม้าไม้ไผ่ วิ่งไล่จับ ซ่อนแอบ

 กระทั่งใกล้เวลาเที่ยงคืน ผู้อาวุโสในบ้านก็จะเริ่มตั้งโต๊ะเพื่อจัดเรียงธูปเทียนไหว้บรรพบุรุษ และต้อนรับเทพแห่งโชคลาภ นอกจากนั้นก็ยังมีการจุดประทัด จุดโคมไฟ ซึ่งเมื่อใกล้เวลาเที่ยงคืนเท่าไหร่ เสียงประทัดก็ยิ่งดังมากขึ้นเท่านั้น กระทั่งรุ่งอรุณแรกของปี ก็จะสวัสดีปีใหม่กัน กินเกี๊ยว เพื่อความเป็นสิริมงคล

ไหว้เจ้า-ตรุษจีน

 

เซ่นไหว้บรรพบุรุษ

ประเพณีการเซ่นไหว้บูชาบรรพบุรุษในช่วงเทศกาลตรุษจีน ถือกำเนิดขึ้นจากรากฐานแห่งคุณธรรมความกตัญญูกตเวที ที่ชาวจีนยึดมั่นและให้ความสำคัญยิ่ง ตามประเพณีแบบดั้งเดิม แต่ละบ้านจะนำบันทึกลำดับวงศ์ตระกูลหรือที่เรียกว่า ‘เจียพู่’ ( 家谱) หรือรูปภาพของบรรพบุรุษหรือแผ่นป้ายที่สลักชื่อบรรพบุรุษ เป็นต้น มาวางไว้ที่โต๊ะเซ่นไหว้ ที่มีกระถางธูปและอาหารเซ่นไหว้

ในประเทศจีน บางแห่งจะทำพิธีสักการะเทพเจ้าแห่งโชคลาภหรือไฉเสิน (财神) หรือที่ไฉ่สิ่งเอี๊ย ในภาษาแต้จิ๋ว พร้อมๆกับเซ่นไหว้บรรพบุรุษ โดยอาหารที่นำมาใช้ถวายเทพเจ้าแห่งโชคลาภ ตามความนิยมของชาวจีนทางเหนือ โดยมากประกอบด้วย เนื้อแพะ อาหารคาว 5 อย่าง ของหวาน 5 อย่าง ข้าว 5 ชาม ขนมที่ทำจากแป้งสาลีไส้พุทรา 2 ลูก ( คล้ายกับขนมถ้วยฟูในบ้านเรา) และหมั่นโถวขนาดใหญ่ 1 ลูก

 แท้จริงแล้วการสักการะบูชาเทพเจ้าและไหว้บรรพบุรุษนั้น ก็คือการกล่าวอวยพรปีใหม่กับเทพและบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วนั่นเอง ขณะเดียวกันก็เพื่อให้ลูกหลานได้รำลึกถึงบรรพชน หลังจากทำพิธีไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษแล้ว ลูกหลานจะช่วยกันเผากระดาษเงิน กระดาษทอง

 สำหรับช่วงเวลาในการประกอบพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษนั้น จะแตกต่างกันออกไป กล่าวคือบางบ้านจะเซ่นไหว้ก่อนการรับประทาน ‘เหนียนเย่ฟั่น’ หรืออาหารมื้อแรกของปีใหม่ ขณะที่บางบ้านนิยมเซ่นไหว้ก่อนหรือหลังคืนส่งท้ายปีเก่าหรือ ที่เรียกว่า ‘ฉุ่เย่’ บางบ้านก็นิยมประกอบพิธีในช่วงเช้าของในวันที่ 1 เดือน 1 หรือ ชูอี ( 初一)

ตรุษจีนปีนี้

 

 มื้อส่งท้ายปีเก่า

‘เหนียนเยี่ยฟ่าน (年夜饭)’ หมายถึงอาหารค่ำของคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญก่อนขึ้นปีใหม่ ที่ชาวจีนให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยมัก ไหว้บรรพบุรุษ และจุดประทัดกันก่อนที่จะลงมือรับประทานอาหารมื้อพิเศษนี้  ‘เหนียนเยี่ยฟ่าน’ มีความพิเศษ ตรงที่เป็นมื้อใหญ่ที่สมาชิกในครอบครัวทุกรุ่นทุกวัยและทุกเพศจะพร้อมหน้าพร้อมตาล้อมวงร่วมรับประทานอาหารกัน สมาชิกที่แยกไปอยู่ที่อื่นจะพยายามกลับมาให้ทันวันส่งท้ายปี แต่หากกลับมาไม่ได้จริงๆ ครอบครัวจะเว้นที่ว่างพร้อมวางชามและตะเกียบไว้เสมือนหนึ่งว่ามากันครบ หลังจากทาน ‘เหนียนเยี่ยฟ่าน’ เสร็จแล้ว ผู้ใหญ่จะให้ ‘ยาซุ่ยเฉียน (压岁钱)’ หรือที่คนไทยเรียกกันว่า ‘อั่งเปา’ แก่เด็กๆ  ความพิเศษของ ‘เหนียนเยี่ยฟ่าน’ ยังอยู่ที่อาหารหลากหลาย ให้สมาชิกที่เหน็ดเหนื่อยจากการทำงานมาทั้งปี ได้ผ่อนคลายร่วมทานอาหารอย่างมีความสุขอยู่กับครอบครัวในคืนสุดท้ายของปี

 ขณะที่ชื่อของอาหารที่นำมาตั้งโต๊ะยังแฝงไว้ด้วยความหมายที่เป็นสิริมงคล จานบังคับที่ทุกโต๊ะต้องมีคือ ‘จี’ (鸡 ไก่) และ ‘อี๋ว์’(鱼 ปลา) แทนความหมาย ‘จี๋เสียงหยูอี้ (吉祥如意 เป็นสิริมงคลสมดังปรารถนา)’ และ ‘เหนียนเหนียนโหยวอี๋ว์ (年年有余 มีเงินทองเหลือใช้ทุกปี)’

เกี๊ยว-ตรุษจีน-เจี่ยวจือ

 

กิน “เกี๊ยวข้ามปี” โชคดีตลอดไป

ประเพณีการกินเจี่ยวจือ 饺子หรือเกี๊ยวต้มจีนในวันตรุษจีนเริ่มเป็นที่นิยมกันมาตั้งแต่ในสมัยราชวงศ์หมิง(ค.ศ.1368-1644) โดยคนในครอบครัวจะต้องห่อเจี่ยวจือให้เสร็จก่อนเที่ยงคืนของวันสิ้นปี รอจนยามที่เรียกว่า 子时 -จื่อสือ ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 23 – 1 นาฬิกาของวันถัดมาก็จะเริ่มรับประทานกัน และเป็นเวลาเริ่มต้นวันใหม่ของปีใหม่พอดี การทานเจี่ยวจือจึงมีความหมายว่า ‘เปลี่ยนปีเชื่อมเวลา更岁交子’เพราะคำเรียกอาหารชนิดนี้饺-เจี่ยวก็ออกเสียงคล้าย交-เจียวซึ่งมีความหมายว่าเชื่อมต่อกัน และ子-จื่อก็คือ子时 -จื่อสือนั่นเอง  นอกจากนั้น การรับประทานอาหารชนิดนี้ยังมีความหมายสำคัญของการรวมตัวของคนในครอบครัวอีกด้วย เมื่อแป้งที่ห่อไส้เรียกว่า和面-เหอเมี่ยน คำว่า 和พ้องเสียงกับคำว่า 合 -เหอ ที่แปลว่าร่วมกัน และ饺 – เจี่ยวก็ออกเสียงคล้ายกับคำว่า 交 ที่มีอีกความหมายว่า มีความสัมพันธ์ต่อกันด้วย  การที่เกี๊ยวเป็นอาหารสำคัญที่ไม่อาจขาดได้ในวันตรุษจีน ยังมีเหตุผลมาจากรูปลักษณ์ของเจี่ยวจือ ที่เป็นรูปทรงคล้ายเงินในสมัยโบราณ การรับประทานเจี่ยวจือ จึงเหมือนการนำเงินทองเข้ามาสู่ตัว

นอกจากนั้น ไส้ในเจี่ยวจือก็ยังสะดวกต่อการบรรจุสิ่งที่เป็นมงคลลงไปให้เป็นความหวังต่อคนที่รับประทานด้วย เช่น ลูกกวาด ถั่วลิสง พุทราแดง เม็ดเกาลัด เหรียญเงิน โดยคนที่กัดเจอลูกกวาด ชีวิตในปีใหม่ก็จะยิ่งหอมหวาน ในขณะที่ถั่วลิสงมีความหมายว่าแข็งแรงและอายุยืนนาน ส่วนพุทราแดงและเกาลัด ก็จะมีบุตรภายในปีนั้น และหากกัดเจอเหรียญเงินก็จะยิ่งร่ำรวยเงินทอง

อาหารรับขวัญวันปีใหม่

อาหารรับขวัญวันปีใหม่

การตระเตรียมอาหารการกินในเทศกาลตรุษจีน นับเป็นงานช้างแห่งปีทีเดียว โดยราวสิบวันก่อนวันปีใหม่ชาวจีนจะเริ่มสาละวนกับการซื้อหาข้าวของ อาทิ เป็ด ไก่ ปลา เนื้อ ชา เหล้า ซอส วัตถุดิบเครื่องปรุงสำหรับอาหารผัดทอด ขนมนานาชนิด และผลไม้

 อาหารการกินในวันตรุษจีน ยังโปรยประดับด้วยคำที่เป็นสิริมงคล ชาสำหรับคารวะแขก ในวันปีใหม่ของคนเจียงหนันยังใส่ลูกสมอ 2 ลูกไว้ในจานรองถ้วยชาหรือถาดชุดชา เพื่อสื่อความหมายว่า ‘ชาเงิน’ และในสำรับอาหารจะต้องมีผัดผักกาดรวมอยู่ด้วย เพื่อเป็นเคล็ดว่า กินแล้วจะบันดาล ‘ความสนิทสนมอบอุ่น’ เนื่องจาก ‘ผัดผักกาด’ ในภาษาจีนคือ เฉ่าชิงไช่ (炒青菜) ซึ่งมีเสียงใกล้เคียงกับ ชินชินเย่อเย่อ (亲亲热热) ที่แปลว่า ‘ความสนิทสนมอบอุ่น’ และอาหารสำคัญอีกอย่างคือ ผัดถั่วงอก เนื่องจากถั่วงอกเหลืองมีรูปร่างคล้ายกับ ‘หยกหยูอี้’ ซึ่งมีเสียงพ้องกับคำว่า หยูอี้ (如意) ที่แปลว่า สมปรารถนา

 นอกจากนี้ ตามประเพณีการกินอาหารปีใหม่จะต้องกินหัวปลา แต่อย่าสวาปามจนเกลี้ยงจนแมวร้องไห้ ธรรมเนียมการกินปลาให้เหลือนี้เพื่อเป็นเคล็ดว่า ‘เหลือกินเหลือใช้’ ซึ่งในภาษาจีน มีคำว่า ชือเซิ่งโหย่วอี๋ว์ (吃剩有鱼) คำว่า ‘鱼-อี๋ว์’ ที่แปลว่าปลานั้น พ้องเสียงกับ ‘余 -อี๋ว์’ ที่แปลว่า เหลือ จึงเป็นเคล็ดว่า ขอให้ชีวิตมั่งมีเหลือกินเหลือใช้  สำรับทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งดีงามของวันรุ่งอรุณแห่งปี  หลังจากรับประทานอาหารมื้อแรกของ วันตรุษ แล้ว ชาวจีนนิยมไป ศาลบรรพบุรุษ บูชาบรรพบุรุษ และยังมีวิถีปฏิบัติเพื่อขอพรและขอความเป็นสิริมงคลในวันปีใหม่อื่นๆ ได้แก่ จุดโคมไฟ จุดประทัด ถวายเครื่องเซ่นไหว้เทพเจ้า ไปวัด ออกจากบ้านไปทัศนาจร รวมถึงการไปเก็บต้นงา เพราะเชื่อว่าชีวิตจะเจริญยิ่งๆขึ้นไปเหมือนต้นงาที่งอกขึ้นเป็นข้อๆชั้นๆ

ขนมเข่ง-ตรุษจีน

กินขนมเข่ง (年糕) อำนวยพรชีวิตเจริญยิ่งๆขึ้นทุกปีๆ

อาหารที่ขาดไม่ได้ในวันตรุษจีนอีกอย่างคือ ขนมเข่ง ขนมที่ชาวจีนเรียก เหนียนเกา (年糕) นิยมทำกินในหมู่ชาวจีนทางใต้ ประเพณีกินเหนียนเกาในวันตรุษมีมา 7,000 กว่าปีแล้ว เดิมทีทำขึ้นเพื่อเซ่นไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษ ภายหลังกลายเป็นอาหารนิยมในช่วงตรุษจีน มีความหมายอำนวยพรให้ชีวิต ‘เจริญยิ่งๆขึ้นทุกปีๆ ’ (生活年年提高)

 ประทัด-ตรุษจีน

 

จุดประทัดรับปีใหม่

นอกจากคืนวันส่งท้ายปีเก่าและวันที่ 5 เดือน 1 ที่จะมีการจุดประทัดกันแล้ว ประเพณีการจุดประทัดในเช้าวันแรกของปีใหม่ก่อนออกจากบ้าน ก็เป็นความเชื่อของชาวจีนว่า จะเป็นการเริ่มต้นปีด้วยความคึกคักหรือที่เรียกว่า 开门炮 (ไคเหมินเพ่า) เพื่อต้อนรับวันแรกของปี  ประทัดของจีนมีประวัติศาสตร์มายาวนาน เดิมทีใช้ปล้องไม้ไผ่ตั้งไฟเผาให้ระเบิดจนเกิดเสียงดัง ใช้ในการขับไล่ภูตผีป้องกันเสนียดจัญไร ต่อมาใช้ในพิธีไสยศาสตร์ของพ่อมดหมอผีและการเสี่ยงทาย จนในที่สุดกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของการอธิษฐานขอความสงบร่มเย็น

ตรุษจีน

 

เดินสายอวยพรตรุษจีน

กิจกรรมอีกอย่างที่ขาดไม่ได้ช่วงตรุษจีน คือ “ไป้เหนียน (拜年)” หรือ การอวยพรตรุษจีน หากกล่าวว่า “จี้จู่ (祭祖)” เป็นการเซ่นไหว้รำลึกถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับ “ไป้เหนียน” ก็จะเป็นการสังสรรค์กับญาติสนิทที่ยังมีชีวิตอยู่ในวันขึ้นปีใหม่ กิจกรรมทั้ง 2 อย่างต่างเป็นการแสดงออกถึงการสื่อสัมพันธ์กับญาติที่ใกล้ชิด  ในอดีตหากญาติสนิทมิตรสหายมีมาก แวะไปเยี่ยมเยียนได้ไม่ทั่วถึง พวกชนชั้นสูงมักจะส่งคนรับใช้นำบัตรอวยพร หรือ “ฝูเต้า (福倒)” (ความสุขมาถึงแล้ว) ไปให้แทน ฝ่ายที่รับการ “ไป้เหนียน” ที่เป็นผู้สูงอายุมักจะให้ “ยาซุ่ยเฉียน (压岁钱)” แก่เด็กๆ ที่มาไหว้เยี่ยมเยียน

ส่วนการ “ไป้เหนียน” ของชาวบ้านทั่วไปก็มีอิทธิพลต่อชนชั้นสูงเช่นกัน ซึ่งราชสำนักในสมัยหมิงชิงนิยมจัดงาน “ถวนไป้ (团拜)” หรืองานที่ชุมนุมญาติๆ ไว้ด้วยกัน ให้ทำการ “ไป้เหนียน” ซึ่งกันและกันในคราเดียว มาถึงปัจจุบันยังนิยมจัดงานเช่นนี้อยู่ ซึ่งคล้ายกับเป็นงานฉลองปีใหม่กับหมู่ญาติสนิทมิตรสหายไปในตัว สำหรับการ “ไป้เหนียน” ในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคไฮเทค นอกจากการไปเยี่ยมเยือนถึงบ้านแล้ว ยังนิยมส่งบัตรอวยพร โทรศัพท์ อีเมล์ หรือส่งข้อความผ่านทางโทรศัพท์มือถือ เพื่อส่งความสุขซึ่งกันและกัน

ตรุษจีน

 

 กลับบ้านเยี่ยมพ่อแม่

หลังจากวันแรกของปีใหม่ผ่านพ้นไป บรรดาหญิงสาวที่ออกเรือนไปแล้วจะกลับไปอวยพรตรุษจีนพ่อแม่และญาติพี่น้อง พร้อมกับสามีและลูกๆ ที่ชาวจีนเรียกกันว่าการกลับบ้านแม่ หรือ ‘หุยเหนียงเจีย (回娘家)’ ซึ่งถือเป็นโอกาสพาเด็กๆ ไปเยี่ยมคารวะคุณตา คุณยาย คนเฒ่าคนแก่ และรับอั่งเปามาเป็นเงินก้นถุง  ส่วนใหญ่จะไม่กลับบ้านแม่มือเปล่า แต่จะนำขนมคุกกี้ ลูกอม ไปฝากญาติพี่น้องและบ้านใกล้เรือนเคียง ตลอดจนพกอั่งเปาไปแจกหลานๆ ด้วยเช่นกัน เพื่อแสดงออกซึ่งความห่วงหาอาทรต่อบ้านเกิดของหญิงที่ออกเรือนไปแล้ว แต่การกลับไปบ้านแม่นี้ จะแค่กินข้าวเที่ยง ไม่มีการนอนค้าง  ตามธรรมเนียมเดิม ก่อนกลับคุณตาคุณยายจะแต้มสีแดงที่หน้าผากหลาน เพื่อให้เป็นสิริมงคล และป้องกันภูติผีปีศาจมารังควาญ ด้วยหวังให้เด็กๆ เติบโตขึ้นอย่างแข็งแรง ปราศจากโรคภัย

กิจกรรมที่สำคัญอีกอย่างในวันนั้นก็คือ การเชิญเทพเจ้าแห่งโชคลาภ โดยแต่ละบ้านจะทำการติดภาพเชิญเทพเจ้าโชคลาภเข้ามายังบ้านของตน

ตรุษจีน

 

เรื่องต้องห้ามก่อนวันที่ 5 ‘พ่ออู่ (破五)’

ตรุษจีนเป็นเทศกาลแห่งความสุขสนุกสนาน และยังเป็นเทศกาลที่คงธรรมเนียมประเพณีดั่งเดิมไว้ ซึ่งในช่วงนี้จะมี ‘คำพูดหรือการกระทำต้องห้าม’ เช่น ในวันชิวอิก หรือวันขึ้นปีใหม่ ผู้หญิงห้ามออกจากบ้านไปอวยพรปีใหม่และห้ามกลับไปบ้านแม่ เด็กน้อยห้ามร้องไห้กระจองอแง ทุกคนห้ามพูดเรื่องอัปมงคล เพื่อนบ้านห้ามทะเลาะเบาะแว้ง รวมทั้งห้ามทำอุปกรณ์เครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์แตกเสียหาย ตลอดจนห้ามเชิญหมอมาที่บ้าน  ตั้งแต่ชิวอิก หรือ ชูอี (初一) จนถึงชูซื่อ (初四) หรือวันที่ 1-4 ของปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติ ห้ามคนในบ้านทำสิ่งที่ไม่เป็นสิริมงคลทั้งหลายตั้งแต่ใช้เข็มเย็บผ้า กรรไกร กวาดบ้าน และยังห้ามกินข้าวต้มในวันที่ 1 ด้วย เพราะข้าวต้มจัดเป็นอาหารของขอทานคนยากจน

เมื่อเข้าวันที่ 5 หรือชูอู่ (初五) จึงจะเริ่มผ่อนคลายกฎต้องห้ามต่างๆ และเข้าสู่ภาวะปกติ ชาวบ้านจึงเรียกว่า ‘พ่ออู่ (破五)’ ซึ่งหมายถึง ทำให้แตก หรือยกเลิกข้อห้ามในวันที่ 5 โดยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ หุงหาอาหารได้ตามเดิม ส่วนอาหารยอดนิยมในวันนี้จะเป็นเกี๊ยวจีน (饺子) ที่ในสมัยก่อนเรียกว่า ‘เนียอู่ (捏五)’ โดยแทนการห่อเงินห่อทอง นำมาซึ่งความมั่งคั่งร่ำรวย  นอกจากนั้น นับตั้งแต่วันที่ 5 ผู้คนจะสามารถนำขยะไปทิ้งข้างนอกได้ อย่างที่ชาวจีนเรียกว่า ‘เต้าฉานถู่ (倒残土)’ และยังถือวันที่ 5 นี้ เป็นวันเกิดของเทพเจ้าแห่งโชคลาภเงินทองที่ประจำทั้ง 5 ทิศ ซึ่งตามร้านค้าต่างๆ จะประกอบพิธีไหว้ เพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยเปิดกิจการรับปีใหม่ด้วย

 อั่งเปา

อั่งเปา

การแจกอั่งเปา (红包ซองแดง) หรือ *แต๊ะเอีย (กด/ทับเอว) สำหรับเด็กสมัยใหม่ต่างคาดหวังหรือหลงระเริงไปกับตัวเงินในซอง แต่หารู้ไม่ว่า กุญแจสำคัญอยู่ที่ซองแดงต่างหาก  ชาวจีนนิยมชมชอบ “สีแดง” เป็นที่สุด อย่างที่มีคนเคยพูดว่า “จะถูกจะแพง ก็ขอให้แดงไว้ก่อน” เพราะว่า ตามความเชื่ออย่างจีน สีแดงเป็นสัญลักษณ์ของความมีชีวิตชีวา ความสุข และโชคดี  เรามอบอั่งเปาให้แก่บุตรหลาน หรือญาติผู้ใหญ่ เพื่อเป็นการมอบโชคลาภและพรอันประเสริฐต่างๆ ให้แก่พวกเขา เงินในซองแดงแค่เพียงต้องการให้เด็กๆ ดีใจ แต่ตัวเอกของประเพณีนี้อยู่ที่ซองแดง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของโชคดี ดังนั้น การเปิดซองอั่งเปาต่อหน้าผู้ให้ถือเป็นเรื่องที่ไม่สุภาพเช่นกัน

 อั่งเปาสามารถมอบให้ในระหว่างไหว้ตรุษจีนในหมู่ญาติพี่น้อง หรือวางไว้ข้างหมอนเวลาที่ลูกๆ หลับในคืนวันสิ้นปีก็ได้

 ประเพณีการให้แต๊ะเอียได้สืบทอดสู่ชาวจีนรุ่นต่อรุ่น ทั้งในประเทศจีนและจีนโพ้นทะเล ครอบครัวจีนส่วนใหญ่ถือว่า ลูกหลานที่ทำงานแล้ว จะไม่ได้แต๊ะเอีย แต่จะกลายเป็นผู้ให้แทน การให้อั่งเปา ว่าเป็นวิธีการกระชับสัมพันธ์ในหมู่ญาติอีกแบบหนึ่ง

 นอกจากนี้ ยังมีตำนานโบร่ำโบราณเกี่ยวกับเรื่องอั่งเปาอีกว่า เมื่อครั้งโบราณกาลมีปีศาจเขาเดียวนามว่า “ซุ่ย” (祟) อาศัยอยู่ใต้ทะเลลึก ทุกคืนวันส่งท้ายปีมันจะขึ้นฝั่งมาทำร้ายเด็กๆ โดยซุ่ยจะใช้มือลูบศีรษะเหยื่อ หลังจากนั้นเด็กจะจับไข้ จากเด็กฉลาดเฉลียวจะกลายเป็นเด็กที่สมองเชื่องช้า  ชาวบ้านเกรงว่า ปีศาจซุ่ยจะมาทำร้ายลูกหลาน เมื่อถึงคืนวันสุดท้ายของปี ก็จะจุดไฟเฝ้ายาม ไม่หลับไม่นอนตลอดทั้งคืน เรียกว่า “โส่วซุ่ย” (守祟 หรือ เฝ้าตัวซุ่ย) ต่อมาแผลงเป็น “โส่วซุ่ย” (守岁) ประเพณี“เฝ้าปี” ที่ชาวจีนนิยมปฏิบัติกันในค่ำคืนก่อนผัดเปลี่ยนสู่ปีใหม่แทน

 ในคืนนั้นเองมีเรื่องเล่าว่า มีสามีภรรยาคู่หนึ่งแซ่ กวน นำเงินเหรียญออกมาเล่นกับลูก ครั้นลูกน้อยเหนื่อยล้าหลับไป จึงได้นำเงินเหรียญห่อใส่กระดาษแดงแล้ววางไว้ข้างหมอนลูก เมื่อปีศาจซุ่ยบุกเข้าบ้านสกุลกวนหวังทำร้ายเด็ก แต่เพราะแสงทองจากเหรียญโลหะข้างหมอนกระทบเข้าตา ทำให้ซุ่ยตกใจและหนีไป  เรื่องราวดังกล่าวแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านอื่นๆ ต่างพากันลอกเลียนแบบ โดยทุกวันสิ้นปีผู้อาวุโสจะมอบเงินห่อกระดาษแดงแก่ลูกหลาน “ซุ่ย” จะได้ไม่กล้ามาทำร้าย นับแต่นั้นมาจึงเรียกเงินที่ให้นี้ว่า “ยาซุ่ยเฉียน” (压祟钱หรือ เงินทับตัวซุ่ย)ต่อมาแผลงเป็น “เงินทับซุ่ย (ปี)” แทน

* ที่มาของคำว่า “แต๊ะเอีย” มาจากสมัยก่อนเงินตราที่ชาวจีนโบราณใช้กันเป็นโลหะ ขณะนั้นยังไม่มีชุดเสื้อผ้าที่มีกระเป๋า จึงได้นำเงินใส่ถึงและผูกรอบเอว เงินยิ่งมากน้ำหนักยิ่งกดทับที่เอวมากตาม

ที่มา : 

astvผู้จัดการออนไลน์
พฤศจิกายน 9, 2013
Posted in ความรู้เรื่องจีน
ป้ายกำกับ:วันตรุษจีน
Prev Next

บทความแยกตามหมวดหมู่

  • .ประวัติ ซินแสหลัว
  • .ผลงานการเขียน
  • การแพทย์แผนจีน-ไทย
  • ข้อคิดคติจีน
  • ข้อคิดธรรมะ
  • ความรู้เรื่องจีน
  • คำถามที่พบบ่อย
  • ซินแสขอแนะนำ
  • ทั่วไป
  • นิทานดีชี้ธรรม
  • ลายมือ พู่กันจีน ซินแสหลัว
  • วิชาฮวงจุ้ย แบบลึกซึ้ง
  • วิชาโหราศาสตร์จีนขั้นสูง
  • สัญลักษณ์มงคลจีน
  • เฉพาะผู้สมัครสมาชิก
  • เทพเจ้าจีน
  • แพทย์แผนไทย สมุนไพรไทย
  • โหงวเฮ้ง-เมี่ยนเซียง

ค้นหาความรู้ได้ทางนี้ครับ

กดเข้าไปอ่านได้ในคำที่สนใจครับ

การแพทย์ ขงจื้อ คำทำนาย จิต จิตใจ จีน ชง ชีวิต ซินแส ซินแสหลัว ดวงจีน ดวงชะตา ดูดวง ดูดวงจีน ทำบุญ ธรรม ธรรมะ ธาตุ ธาตุดิน ธาตุทอง ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุไม้ บุญ ปัญญา ปากว้า ปีชง พู่กันจีน ภาพ ยินหยาง ลายมือพู่กันจีน สิบสองนักษัตร ห้าธาตุ อี้จิง ฮวงจุ้ย ฮวงจุ้ยจีน.ฮวงจุ้ยโต๊ะทำงาน.ฮวงจุ้ยห้องทำงาน เมตตา แก้ชง แพทย์แผนจีน แม่น โหงวเฮ้ง โหราศาสตร์ โหราศาสตร์จีน ไฉ ไหว้เจ้า

มาใหม่ล่าสุด

  • เลขมงคลประจำยุคนี้ 25,ตุลาคม 2024
  • ป้องกัน: นับแต่ปี มะเส็งธาตุไม้หยิน อี่ซื่อ เป็นต้นไป และเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ที่รุนแรงกับการเตรียมรับมือ 10,ตุลาคม 2024
  • ป้องกัน: (อ่านได้เฉพาะผู้สมัครสมาชิก) การเข้าใจธาตุของสิ่งที่เรียกว่า เล่นหุ้น จากคำถามว่าบาปไหม ไปสู่เรื่องต่างๆ 2,กันยายน 2024
  • ป้องกัน: (อ่านได้เฉพาะผู้สมัครสมาชิก) นิทานแสหลัวที่ 31082567 31,สิงหาคม 2024
  • ป้องกัน: (อ่านได้เฉพาะผู้สมัครสมาชิก) นิทานแสหลัว ที่ 25670719 19,กรกฎาคม 2024
  • ป้องกัน: (อ่านได้เฉพาะผู้สมัครสมาชิก) นิทานแสหลัว 25670718A 18,กรกฎาคม 2024
  • โหราศาสตร์จีนพื้นฐาน หาธาตุในผังดวงชะตาจีนโบราณ 17,กรกฎาคม 2024
  • ป้องกัน: (อ่านได้เฉพาะผู้สมัครสมาชิก) นิทานแสหลัว ที่ 25670717 17,กรกฎาคม 2024

人生難得 ความยากของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์

กิจฺโฉ มนุสฺสปฏิลาโภ 人生難得 "ว่าด้วยความเป็นมนุษย์ยาก" --------------------------------------- ฉิคคฬสูตรที่ ๑-๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษโยนแอก ซึ่งมีช่องเดียวลงไปในมหาสมุทร เต่าตาบอดมีอยู่ในมหาสมุทรนั้น ต่อล่วงร้อยปีๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่งๆ เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เต่าตาบอดนั้น ต่อล่วงร้อยปีๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่งๆ จะสอดคอให้เข้าไปในแอกซึ่งมีช่องเดียวโน้นได้บ้างหรือหนอ? ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าล่วงกาลนานไปบางครั้งบางคราว เต่าจะสอดคอให้เข้าไปในแอกนั้นได้บ้าง ดูกรภิกษุทั้งหลาย เต่าตาบอด ต่อล่วงร้อยปีๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่งๆ สอดคอให้เข้าไปในแอก ซึ่งมีช่องเดียวโน้น ยังจะเร็วกว่า เราย่อมกล่าวความเป็นมนุษย์ เพราะคนพาลผู้ไปสู่วินิบาตแล้วคราวเดียวก็หามิได้ ข้อนั้น เพราะเหตุไร เพราะว่าในวินิบาตนี้ ไม่มีการประพฤติธรรม การประพฤติชอบ การกระทำกุศล การกระทำบุญ มีแต่การเคี้ยวกินกันและกัน การเคี้ยวกินผู้มีกำลังน้อยกว่า ย่อมเป็นไปในวินิบาตนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ อริยสัจ ๔ เป็นไฉน คือ ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลาย พึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามความเป็นจริง ว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา. ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนมหาปฐพีนี้มีน้ำเป็นอันเดียวกัน บุรุษโยนแอกซึ่งมีช่องเดียวลงไปในมหาปฐพีนั้น ลมทิศบูรพาพัดเอาแอกนั้นไปทางทิศประจิม ลมทิศประจิมพัดเอาไปทางทิศบูรพา ลมทิศอุดรพัดเอาไปทางทิศทักษิณ ลมทิศทักษิณพัดเอาไปทางทิศอุดร เต่าตาบอดมีอยู่ในมหาปฐพีนั้น ต่อล่วงร้อยปีๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่งๆ เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เต่าตาบอดนั้น ต่อล่วงร้อยปีๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่งๆ จะสอดคอให้เข้าไปในแอกซึ่งมีช่องเดียวโน้นได้บ้างหรือหนอ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ผู้เจริญ ข้อที่เต่าตาบอด ต่อล่วงร้อยปีๆ มันจะโผล่ขึ้นคราวหนึ่งๆ จะสอดคอเข้าไปในแอกซึ่งมีช่องเดียวโน้นเป็นของยาก ฉันนั้นภิกษุทั้งหลาย "การได้ความเป็นมนุษย์เป็นของยาก" "พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจะอุบัติในโลกเป็นของยาก" "ธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้วจะรุ่งเรืองในโลก ก็เป็นของยาก" ความเป็นมนุษย์นี้เขาได้แล้ว พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติแล้วในโลก และธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้วก็รุ่งเรืองอยู่ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (.นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดทุกข์ นี้ความดับลงแห่งทุกข์ นี้ทางดำเนินชีวิตเฉพาะให้ถึงความดับลงแห่งทุกข์ หรือที่รู้จักกันว่า อริยสัจสี่) พระไตรปิฎก มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๖๘/๑๗๔๔. ฉิคคฬสูตรที่ ๑ [๑๗๔๓] เสยฺยถาปิ ภิกฺขเว ปุริโส มหาสมุทฺเท เอกจฺฉิคฺคฬํ ยุคํ ปกฺขิเปยฺย ตตฺราปิสฺส กาโณ กจฺฉโป โส วสฺสสตสฺส วสฺสสตสฺส อจฺจเยน สกึ สกึ อุมฺมุชฺเชยฺยฯ ตํ กึ มญฺญถ ภิกฺขเว อปิ นุ โส กาโณ กจฺฉโป วสฺสสตสฺส วสฺสสตสฺส อจฺจเยน สกึ สกึ อุมฺมุชฺชนฺโต อมุสฺมึ เอกจฺฉิคฺคเฬ ยุเค คีวํ ปเวเสยฺยาติฯ ยทิ นูน ภนฺเต กทาจิ กรหจิ ทีฆสฺส อทฺธุโน อจฺจเยนาติฯ ขิปฺปตรํ โข โส ภิกฺขเว กาโณกจฺฉโป วสฺสสตสฺส วสฺสสตสฺส อจฺจเยน สกึ สกึ อุมฺมุชฺชนฺโต อมุสฺมึ เอกจฺฉิคฺคเฬ ยุเค คีวํ ปเวเสยฺยฯ น เตฺววาหํ ภิกฺขเว สกึ วินิปาตคเตน พาเลน มนุสฺสตฺตํ วทามิฯ ตํ กิสฺส เหตุฯ น เหตฺถ ภิกฺขเว อตฺถิ ธมฺมจริยา สมจริยา กุสลกิริยา ปุญฺญกิริยา อญฺญมญฺญขาทิกาฯ เอตฺถ ภิกฺขเว วตฺตติ ทุพฺพลขาทิกาฯ ตํ กิสฺส เหตุฯ อทิฏฺฐตฺตา ภิกฺขเว จตุนฺนํ อริยสจฺจานํฯ กตเมสํ จตุนฺนํฯ ทุกฺขสฺส อริยสจฺจสฺสฯ เปฯ ทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทาย อริยสจฺจสฺสฯ ตสฺมา ติห ภิกฺขเว อิทํ ทุกฺขนฺติ โยโค กรณีโยฯ เปฯ อยํ ทุกฺขนิโรธคามินี ปฏิปทาติ โยโค กรณีโยติฯ ฉิคคฬสูตรที่ ๒ [๑๗๔๔] เสยฺยถาปิ ภิกฺขเว อยํ มหาปฐวี เอโกทิกา อสฺส ตตฺร ปุริโส เอกจฺฉิคฺคฬํ ยุคํ ปกฺขิเปยฺย ตเมนํ ปุรตฺถิโม วาโต ปจฺฉิเมน สํหเรยฺย ปจฺฉิโม วาโต ปุรตฺถิเมน สํหเรยฺย อุตฺตโร วาโต ทกฺขิเณน สํหเรยฺย ทกฺขิโณ วาโต อุตฺตเรน สํหเรยฺย ตตฺรสฺส กาโณ กจฺฉโป โส วสฺสสตสฺส วสฺสสตสฺส อจฺจเยน สกึ สกึ อุมฺมุชฺเชยฺยฯ ตํ กึ มญฺญถ ภิกฺขเว อปิ นุ โข กาโณ กจฺฉโป วสฺสสตสฺส วสฺสสตสฺส อจฺจเยนสกึ สกึ อุมฺมุชฺชนฺโต อมุสฺมึ เอกจฺฉิคฺคเฬ ยุเค คีวํ ปเวเสยฺยาติฯ อธิจฺจมิทํ ภนฺเต ยํ โส กาโณ กจฺฉโป วสฺสสตสฺส วสฺสสตสฺส อจฺจเยน สกึ สกึ อุมฺมุชฺชนฺโต อมุสฺมึ เอกจฺฉิคฺคเฬ ยุเค คีวํ ปเวเสยฺยาติฯ เอวํ อธิจฺจมิทํ ภิกฺขเว ยํ มนุสฺสตฺตํ ลภติฯ เอวํ อธิจฺจมิทํ ภิกฺขเว ยํ ตถาคโต โลเก อุปฺปชฺชติ อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธฯ เอวํ อธิจฺจมิทํ ภิกฺขเว ยํ ตถาคตปฺปเวทิโต ธมฺมวินโย โลเก ทิปฺปติฯ ตสฺสิทํ ภิกฺขเว มนุสฺสตฺตํ ลทฺธํ ตถาคโต จ โลเก อุปฺปนฺโน อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ตถาคตปฺปเวทิโต จ ธมฺมวินโย โลเก ทิปฺปติฯ ตสฺมา ติห ภิกฺขเว อิทํ ทุกฺขนฺติ โยโค กรณีโยฯ เปฯ อยํ ทุกฺขนิโรธคามินี ปฏิปทาติ โยโค กรณีโยติฯ --------------------------------------- ภาพวาดโดย คุณ พิสิษฐ์ สงเคราะห์ --------------------------------------- 人生難得 佛經 : 《涅槃經》“生世為人難,值佛世亦難,猶如大海中盲龜,值浮孔。 “清凈法寶,難得見聞。我今已聞,猶如盲龜,值浮木孔。” 《圓覺經》“浮木盲龜難值遇。” 《稱揚諸佛功德經》“壹切世界設滿中水,水上有板,而板有孔。有壹盲龜,於百歲中,乃壹舉頭。欲值於孔,斯亦甚難。求索人身,甚難甚難。” 《雜阿含經》在幽暗的大海深處,住了壹只烏龜,這只烏龜雖然壽命比宇宙還要漫長,但是它的雙眼卻瞎了,看不見壹絲的光明,在漆黑的深海裏,它生活在永無止境的黑暗之中,每經過壹百年,才有機會浮出廣袤的海面。大海中飄蕩著壹根長長圓圓的浮木,浮木的中間挖有如其勁項壹般大小的孔洞。亙古洪荒以來,浮木就隨著驚濤駭浪忽東忽西,載浮載沈。瞎了眼睛的盲龜要憑藉它的感覺,在茫茫的大海中,追逐浮木不定的方向。 當每壹百年才浮出壹次水面的盲龜尖尖的頭恰巧頂住浮木小小的洞穴時,便能重見光明,獲得人身。潮來潮去,壹百年壹百年的歲月更替流逝,盲龜依舊沈浮於生死的洪流大海,找不到那抉定它命運的浮木。又壹個壹百年,當盲龜再度浮出水面,頭才接觸到清涼的空氣, 突然壹頭撞進浮木的小小洞孔, 轟然壹響, 眼前霎時霞光萬丈,盲龜終於脫離久遠以來笨重的軀殼,蛻變成為壹個俊秀的童子, 睜開眼睛覷著滾滾的紅塵。

ร้านตำราโหราศาสตร์จีน

LINE @chinesehoro

Openchat LINE-Group ของซินแส

บทความแยกตามหมวด

  • .ประวัติ ซินแสหลัว (12)
  • .ผลงานการเขียน (5)
  • การแพทย์แผนจีน-ไทย (4)
  • ข้อคิดคติจีน (35)
  • ข้อคิดธรรมะ (29)
  • ความรู้เรื่องจีน (23)
  • คำถามที่พบบ่อย (44)
  • ซินแสขอแนะนำ (11)
  • ทั่วไป (22)
  • นิทานดีชี้ธรรม (4)
  • ลายมือ พู่กันจีน ซินแสหลัว (19)
  • วิชาฮวงจุ้ย แบบลึกซึ้ง (35)
  • วิชาโหราศาสตร์จีนขั้นสูง (85)
  • สัญลักษณ์มงคลจีน (3)
  • เฉพาะผู้สมัครสมาชิก (6)
  • เทพเจ้าจีน (6)
  • แพทย์แผนไทย สมุนไพรไทย (1)
  • โหงวเฮ้ง-เมี่ยนเซียง (1)

ค้นหา ในเวปซินแสหลัว

 

ทั้งเนื้อหาภายในเวปไซต์นี้ ในเฟสบุ๊ค ในสื่อต่างๆ ตลอดจนเนื้อความถ้อยคำในการให้คำปรึกษาดวงชะตาชีวิต ด้วยโหราศาสตร์จีน ดวงจีน และฮวงจุ้ย เป็นการนำเอาหลักปรัชญาจีนโบราณมาใช้ตรวจวินิจฉัย ส่วนคำปรึกษาคำแนะนำนั้น ผมค้นพบสิ่งที่ประเสริฐที่สุดในโลกสำหรับเยียวยา บำบัด พัฒนาชะตาชีวิตคนให้ดีขึ้น พัฒนาขึ้นได้ คือ ธรรมโอสถ จึงได้น้อมนำเอาแนวทางหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน มาใช้แนะนำสั่งสอนเป็นหลักใหญ่ของคำแนะนำ บูรณาการความรู้จีนไทยโบราณแต่ไม่แนะนำสิ่งนอกแนวทาง หรือขัดแย้งกับศีลธรรมของพระพุทธศาสนา

ว่าโดยสรุปคือ บูรณาการโหราศาสตร์โบราณจีน/ไทย วิชาฮวงจุ้ยตลอดจนวิชาโบราณสำคัญอื่นๆของจีน ร่วมกับการแพทย์แผนจีนและไทย ข้อไหนที่ขัดแย้ง หรือคลุมเครือว่านอกแนวธรรม ผมตัดออกทั้งสิ้นทั้งปวง ยืนยันหลักการนี้ และผลประสบความสำเร็จมากว่า ๗ ปีแล้ว

尊古術智禮之言

崇佛法道德之行

是本人終身嚴格

ต้องขออภัยอย่างสูง ที่ผมมีความเห็นส่วนตัวเคารพสิทธิส่วนบุคคลของผู้มาขอรับคำปรึกษาเลยไม่อาจเปิดเผยชื่อ ใบหน้า หรือแม้แต่สถานที่ๆผมไปดูฮวงจุ้ยให้ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ บ้าน อาคารพาณิชย์ หรือโรงงานก็ตาม

> ติดต่อ ดูดวงจีน ดูฮวงจุ้ย กดที่นี่

ผมได้แต่งตำราไว้จำนวนหนึ่ง และจะได้จัดทำออกมาอีกเรื่อยๆ ขอให้ท่านกดเข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่ ร้านตำราโหราศาสตร์จีน

ผมได้สร้างกลุ่มไลน์ (LINE GROUP) เพื่อเผยแพร่ความรู้ทันเหตุการณ์และตอบคำถามต่างๆ น่าอ่าน เอาไว้ที่ กลุ่มLINEโหราศาสตร์จีนและฮวงจุ้ย

ขอบพระคุณทุกท่านครับ

IAMSocial, a WordPress Theme by @aicragellebasi