หยุด! ถวายเงินให้พระ
หยุด! ถวายเงินให้พระ
อย่างงครับ อย่างง ว่าทำไม เวปดูดวงจีน โหราศาสตร์จีน แทบจะครึ่งหนึ่งผมมักจะพูดเรื่อง ศีลธรรม และศาสนา เพราะเหตุว่า ดวงจีน เป็นแค่เครื่องมือหนึ่งที่อาจเชื่อถือได้ในการตรวจรักษาความเฮงซวยในชีวิต และการแก้เคล็ดหรือฮวงจุ้ย หรือของอื่นๆที่ผมแนะนำไปแต่ละดวงก็เป็น สิ่งมงคลจีน ตามตำราที่ช่วยแก้ไขชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตำราว่าไว้อย่างนั้นนะครับ แต่ในเมื่อผมเป็นชาวพุทธ ผมเชือมั่นเต็มร้อยว่า ยาดีที่สุดในการแก้ไขชีวิตคือ พระสัทธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า และ การป้องกันความซวยในดวงชะตาก็คือการทำศีลธรรมให้ถูกต้องถึงพร้อมครับ วันนี้จึงขอเตือนเรื่อง การให้เงินให้ทองแก่พระสงฆ์องค์เจ้า ซึ่งผมเข้าใจดีว่าบางทีมันง่าย ตอบสนองความต้องการของพระได้ตรงกว่า เพราะท่านขาดอะไรท่านก็เอาปัจจัยนี้ไปซื้อหาได้เลย เราไม่ต้องไปถาม ไปนั่งเดาใจพระ สองก็คือ มันง่ายต่อเรา เพราะทุกคนพกเงินอยู่แล้ว ควักออกมาถวายได้เลย ไม่ต้องจัดต้องเตรียมซื้อหากันมา แต่ความง่ายที่เป็นประโยชน์เราเรียกว่า ความสะดวก ความง่ายที่ขาดความรู้ความเข้าใจ เราเรียกว่า มักง่าย ครับ แทบจะมีเส้นบางๆ หรือไม่มีเส้นคั่นด้วยซ้ำระหว่างความสะดวกและความมักง่าย ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดทั้งสองอย่างขึ้นและการทำบุญของท่านจะได้ผลบุญที่เป็นไปในแนวทางพุทธศาสนาจริง ควรอ่านครับ
พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ครั้งนั้น ชนทั้งหลายนั่งประชุมกันในราชสำนัก ได้ยกเรื่องเงินและทองขึ้นสนทนากันว่า พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรย่อมยินดีและรับทองและเงิน ในที่ประชุมนั้น มีนายบ้านชื่อมณีจูฬกะรวมอยู่ด้วย เขาได้กล่าวแก่ที่ประชุมนั้นว่า
“ นาย พวกท่านอย่าได้พูดอย่างนั้น ทองและเงินไม่ควรแก่สมณะ พระสมณะไม่ยินดี และไม่รับทองและเงิน พระสมณะมีแก้วและทองอันวางเสียแล้ว ปราศจากทองและเงิน ”
เมื่อนายบ้านได้ชี้แจงความจริงให้ที่ประชุมนั้นเข้าใจแล้วได้เข้าไปเฝ้า พระพุทธเจ้า กราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้น และกราบทูลต่อไปว่า
“ เมื่อข้าพระพุทธเจ้า กล่าวอยู่อย่างนี้ ชื่อว่ากล่าวคล้อยตามพระผู้มีพระภาค ไม่ชื่อว่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำเท็จ ชื่อว่าพยากรณ์ธรรมอันสมควรแก่ธรรม และสหธรรมิกบางรูป ผู้กล่าวตามวาทะ ย่อมไม่ถึงฐานะที่ควรติเตียนหรือพระพุทธเจ้า ”
พระพุทธองค์ ตรัสตอบว่า
“ เอาละนายบ้าน เธอพยากรณ์อย่างนี้ ชื่อว่ากล่าวคล้อยตามเรา ชื่อว่าไม่กล่าวตู่เราด้วยคำเท็จ
ดูก่อนนายบ้าน ทองและเงินไม่ควรแก่สมณะโดยแท้ สมณะไม่ยินดีทองและเงิน สมณะไม่รับทองและเงิน สมณะมีแก้วและทองอันวางเสียแล้ว ปราศจากทองและเงิน ทองและเงินควรแก่ผู้ใด แม้กามคุณทั้งห้าก็ควรแก่ผู้นั้น กามคุณทั้งห้าควรแก่ผู้ใด เธอพึงจำผู้นั้นไว้โดยส่วนเดียวว่า มีปกติมิใช่สมณะ มีปกติมิใช่เชื้อสายพระศากยบุตร เราจะกล่าวอย่างนี้ว่า ผู้ต้องการหญ้าพึงแสวงหาหญ้า ผู้ต้องการไม้พึงแสวงหาไม้ ผู้ต้องการเกวียนพึงแสวงหาเกวียน ผู้ต้องการบุรุษพึงแสวงหาบุรุษ แต่เราไม่กล่าวโดยปริยายไร ๆ ว่า สมณะยินดี พึงแสวงหาทองและเงิน ”
สัตตสติกขันธกะ วินัย ๗/๓๒๒
คำถามที่ควรพิจารณามีอยู่ 2 ประเด็น
ประเด็นแรก พระ รับเงินทองที่เราถวาย พระผิดไหม
ประเด็นที่สอง เรา ถวายเงินพระ เราผิดไหม
เหตุนี้จึงต้องพิจารณาประเด็นแรกก่อน เพราะลำพังการให้ทานด้วยทรัพย์เป็นเรื่องที่ได้บุญ แต่จะได้กุศลหรือไม่อันนี้แล้วแต่จิตและสถานการณ์ของท่านเอง ท่านอาจจะงง ว่า บุญ กุศล ไม่ใช่อันเดียวกันหรือ ตอบสั้นๆว่า ไม่ใช่ครับ หาอ่านได้จากหนังสือ “วิธีสร้างบุญบารมี ฉบับควรอ่าน ที่ผมจัดพิมพ์ไว้ครับ…ย้ำว่า ที่เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จพระสังฆราช (เจริญ คชวัตร) ฉบับจริงเท่านั้นนะครับ ผมจึงตั้งชื่อว่า ฉบับควรอ่าน ซึ่งไม่ได้แปลว่าอีกฉบับไม่ควรอ่านแต่อย่างใด แต่แปลโดยส่วนเดียวว่า ฉบับนี้ ควรอ่าน จำได้ควรจำเสียด้วยซ้ำไม่ใช่แค่อ่านผ่านๆ” กระนั้นแล้ว การทำทานที่ได้บุญ แต่ถ้าทำไม่ถูกต้องสมบูรณ์บุญที่ได้ย่อมไม่เต็มครับ แบบที่หลายๆคนชอบตั้งคำถามว่า ฉันก็ทำบุญมาตั้งเยอะตั้งแยะ ทำไมเหมือนไม่ได้บุญ ทำไมไม่ได้ดีเท่าเขา อะไรทำนองนี้ ลองมาทำความเข้าใจและสำรวจตัวเองดูนะครับ
งั้นตอบเลยว่า พระรับเงินทองที่เราถวาย พระผิดวินัยครับ ดังนี้คือ นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๘ โย ปะนะ ภิกขุ ชาตะรูปะระชะตัง อุคคัณเหยยะ วา…..
“อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือยินดีทอง เงินอันเขาเก็บไว้ให้, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.”
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๙ โย ปะนะ ภิกขุ นานัปปะการะกัง รูปิยะสังโวหารัง…..
“อนึ่ง ภิกษุใดถึงความซื้อขายด้วยรูปิยะมีประการต่างๆ, เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.”
นิสสัคคิยปาจิตตีย์ โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๑๐ โย ปะนะ ภิกขุ นานัปปะการะกัง กะยะวิกกะยัง…..
“อนึ่ง ภิกษุใดถึงการแลกเปลี่ยนมีประการต่างๆ , เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์.”
ซึ่งอยู่ในศีลปาฏิโมก พระต้องสวดทุกกึ่งเดือน พระท่านจะกล่าวว่า อาตมาไม่ทราบนะคุณโยม รับไปแบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ได้
พระวินัยพูดเรื่อง อาบัติ แบ่งเอาไว้ ๗ กองคือ
๑. ปาราชิก (แปลว่า ผู้พ่ายแพ้)
๒. สังฆาทิเสส (แปลว่า อาบัติอันจำปรารถนาสงฆ์ ในกรรม เบื้องต้นและกรรมที่เหลือ)
๓. ถุลลัจจัย (แปลว่า ความล่วงละเมิดที่หยาบ)
๔. ปาจิตตีย์ (แปลว่า การละเมิดที่ยังกุศลให้ตก)
๕. ปาฏิเทสนียะ (แปลว่า จะพึงแสดงคืน)
๖. ทุกกฏ (แปลว่า ทำไม่ดี) ๗. ทุพภาสิต (แปลว่า พูดไม่ดี) อาบัติปาราชิกมีโทษหนัก ทำให้ผู้ล่วงละเมิดขาดจากความเป็นภิกษุ อาบัติสังฆาทิเสสมีโทษหนักน้อยลงมา ผู้ล่วงละเมิดต้องอยู่กรรมคือ ประพฤติวัตรตามที่ทรงบัญญัติ จึงจะพ้นจากอาบัตินี้ ส่วนอาบัติ ๕ กองที่เหลือมีโทษเบา ผู้ล่วงละเมิดต้องประกาศสารภาพผิด ต่อหน้าภิกษุด้วยกัน ดังที่เรียกว่าปลงอาบัติ
พระพุทธศาสนาของเราไม่ได้มุ่งเน้นที่กีดกั้นคั่นขวางทางออก แต่เป็นศาสนาที่มุ่งหาทางออกที่ดีที่สุด ดังนั้น ประเด็นเรื่องห้ามนี้ ก็มีทางออกให้ไว้ในพระไตรปิฎก (พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒) ความว่า
โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ อนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี.
ครั้นนั้น มหาอำมาตย์ ผู้อุปัฏฐากของท่านพระอุปนันท- ศากยบุตร ส่งทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไปกับทูตถวายแก่ท่านพระอุปนันทศากยบุตรสั่งว่า เจ้าจงจ่าย จีวรด้วยทรัพย์จ่ายจีวรนี้ แล้วให้ท่านพระอุปนันทครองจีวร. จึงทูตนั้นเข้าไปหาท่านพระอุปนันท- ศากยบุตร
ครั้นแล้วได้กล่าวคำนี้ กะท่านพระอุปทนันทศากยบุตรว่า ท่านเจ้าข้า ทรัพย์สำหรับ จ่ายจีวรนี้แล กระผมนำมาถวายเฉพาะพระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าจงรับทรัพย์สำหรับจ่ายจีวร.
เมื่อทูตนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุปนันทศากยบุตรได้ตอบคำนี้ กะทูตนั้นว่า พวกเรารับทรัพย์สำหรับจ่ายจีวรไม่ได้, รับได้แต่จีวรอันเป็นของควรโดยการเท่านั้น;
เมื่อท่านตอบอย่างนั้นแล้ว ทูตนั้นได้ถามท่านว่า ก็ใครๆ ผู้เป็นไวยาวัจกรของท่านมีหรือ?
ขณะนั้น อุบาสกผู้หนึ่งได้เดินไปสู่อารามด้วยกรณียะบางอย่าง จึงท่านพระอุปนันท- ศากยบุตรได้กล่าวคำนี้กะทูตนั้นว่า อุบาสกนั้นแล เป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย.
จึงทูตนั้น สั่งอุบาสกนั้นให้เข้าใจแล้ว กลับเข้าไปหาท่านพระอุปนันทศากยบุตรแจ้งว่า ท่านเจ้าข้า อุบาสกที่พระคุณเจ้าแสดงเป็นไวยาวัจกรนั้น, กระผมสั่งให้เข้าใจแล้ว; ขอพระคุณเจ้าจงเข้าไปหา เขาจักให้ท่านครองจีวรตามกาล.
สรุปง่ายๆว่า ถ้าพระต้องการใช้เงิน ให้ผ่านผู้ทำการแทนพระ (ไวยาวัจกร) ก็แค่นั้นเองครับ
บางท่านอาจมองว่า ก็พระสูตรใดๆก็ไม่ได้กำหนดให้การให้เงินพระของฉันผู้ไม่ใช่นักบวชเป็นความผิดใดๆ ฉันก็ถวายได้สิ ไม่ได้ผิด ไม่ได้บาปอะไร ขอให้คำแนะนำอย่างนี้ว่า เราเป็นชาวพุทธควรช่วยกันทำให้พระศาสนาเราสืบทอดต่อไปได้โดยง่ายและเป็นประโยชน์ อันใดที่เราทราบว่าเป็นพระวินัยห้ามไว้ก็อย่าไปสร้างความลำบากแก่พระท่านครับ ไม่เอาใส่ตู้บริจาค ก็เอาให้เด็กวัด กรรมการวัด หรือไวยาวัจกรณ์ดูแลไปครับ มูลเหตุของการให้มีกรรมการวัดก็เพื่อจะให้จัดการเรื่องทางโลกๆ เงินทองๆ สร้างๆ ก่อๆ ถาวรวัตถุต่างๆพวกนี้แทนพระนั้นหละครับ วัดสมัยนี้บางแห่งก็ทำเข้าท่า คือตั้งเป็นมูลนิธิ ให้เราได้ประโยชน์สองทางคือ ทำบุญด้วย ลดหย่อนภาษีได้ด้วย แต่ขอเตือนว่าตอนทำบุญอย่าคิดว่า เย่ ทำทีเดียวได้ประโยชน์สองทางเลย หักภาษีก็ได้ด้วย แบบนี้มันถือว่า โลภ เข้าตัว ไม่ใช่แก่นแท้การทำบุญนะครับ เราๆท่านๆจึงไม่ควรถวายเงินให้พระโดยตรง แต่ควรให้มีคนรับผ่านไม่ก็หยอดตู้บริจาคครับ เอามาเตือนไว้เพราะบางที ท่านอาจเคยไปดูดวง หมอดูสั่งให้ไปทำบุญ หรือ ท่านอาจจะอยากทำบุญเนื่องในวันสำคัญๆ แบบที่ผมมาเร่งเขียนให้ทราบในห้วง เทศกาลตรุษจีน นี้ครับ ก็จะได้เข้าใจโดยละเอียดถูกต้อง เรื่องพวกนี้ บางคนเค้าก็ไม่ค่อยจะสอน เค้าบอกว่า ทำบุญๆ แค่นั้น เพราะเค้านึกว่าเราทราบแล้ว บางคนที่เป็นคนพูดเองก็ยังอาจไม่ทราบเรื่องนี้ด้วยซ้ำ ช่วยกันเผยแพร่ความรู้ที่ถูกตรงพระธรรมวินัยกันนะครับ
ทั้งนี้ การไม่พูด ไม่ถวาย เรื่องเงินเรื่องทองกับพระเลย ถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดครับ เพราะการสะสมทรัพย์สินสมบัติ และการข้องแวะกับเงินทองทั้งหลาย ไม่ใช่หนทางที่นักบวชของพระพุทธศาสนาพึงทำ ทั้งยังเป็นภัยต่อการถือสันโดษ และวิเวก ด้วย