ซานหยางไคไท่ ของมงคลจีน แบบที่หนังสือที่ขายทั่วไปไม่เขียนถึง
ซานหยางไคไท่ หรือ ซานหยางเจียวไท่ 三陽開泰
ซานหยางไคไท่ หรือ ซานหยางเจียวไท่ 三陽開泰
ถ้าแปลเป็นไทยแบบด้านๆก็คือ สามหยางสู่ความร่มเย็นเป็นสุข
ต้องขอท้าวความเป็นพื้นฐานในการอ่านเล็กน้อยว่า บ่อยครั้งมากที่คนจีนมักจะนำธรรมชาติรอบๆตัวมาปรับประยุกต์เป็นสัญลักษณ์เพื่อสื่อถึงความเป็นมงคล ปราชญ์หรือผู้รู้ทั้งหลายมักหยิบยกลักษณะทางธรรมชาติของต้นไม้ หรือสัตว์ ตลอดจนลมฟ้าอากาศดวงดาว มาสื่อแทนความหมายโดยนัย คำว่าโดยนัยก็คือการต้องการโชว์ออฟปัญญาว่าสามารถจะสื่อความหมายใดๆก็ตามโดยไม่กล่าวออกมาซื่อ หรือตรงๆ แต่จะเป็นประโยค ถ้อยคำ ภาพ หรือสิ่งของ ที่เป็นความหมายแฝง และผู้ที่จะเข้าใจความหมายได้ก็ต้องเป็นผู้มีปัญญาพอจะตริตรองและตีความออกมาได้ว่าหมายถึงอะไร เรียกว่าจะรับความเป็นมงคลได้ก็ต้องผ่านการคิดและปััญญามาก่อน ทั้งคนจะรับสาร และคนส่งสาร สิ่งเหล่านี้สื่อความว่า สูงสุดย่อมลงสู่สามัญ ปราชญ์ผู้มีปัญญาศึกษาเล่าเรียนสูง ล้วนรู้จักใช้ประโยชน์จากธรรมชาิติเล็กๆน้อยๆรอบตัว เช่นเดียวกัน เมื่อมีการสืบทอดสัญลักษณ์มงคลต่างๆมา ชาวจีนทั้งหลายก็ได้บรรจุความเป็นมงคลเหล่านั้นไว้ภายในบ้านที่ตนพักอาศัย หรือสถานที่ทำงานใช้ชีวิต อาทิ การเขียนอักษรจีน ภาพวาด และรูปปั้น
ในสมัยนี้ พ่อค้าหัวดีก็เอามาหยิบยกเป็นประเด็นในการผลิตสินค้าขาย เคียงคู่กับหมอฮวงจุ้ยทั้งหลายที่ต่างก็เอามาเป็นเรื่องเป็นประเด็นในการประกอบการทำนายทายทักและการเสริมความเป็นมงคลโชคดีให้แก่ลูกค้า
สำหรับซานหยางไคไท่นี้ มักปรากฎออกมาในรูปลักษณะของแพะสามตัว กำลังกินผักกินหญ้า หรือใช้ชีวิตอยู่ในละแวกแห่งต้นไม้ใบหญ้าที่งอกงาม เพราะว่าคำพ้องเสียงของคำว่า หยาง นอกจากจะหมายถึงดวงตะวัน และหยางในเรื่องยินหยางแล้ว ยังหมายถึง แพะ
ซานหยาง ก็คือแพะสามตัว ที่เมื่อก่อเกิดแล้วก็ย่้อม ไคไท่ หรือทำให้ความเจริญดีงามงอกงามมาสู่ เหล่านี้เป็นการสื่อความหมายโดยนัยทั้งสิ้น
ทีนี้ก็เกิดความสงสัยว่า ทำไมต้องเป็น สามหยาง ถึงจะไคไท่ได้ ก็ต้องย้อนไปเล่าถึงเรื่องเกี่ยวกับอี้จิง ซึ่งตอนนี้ผมก็แค่มีความรู้เล็กน้อยไม่มากเท่าไหร่นัก ก็ขอพูดอธิบายตามแต่ปัญญาจะเข้าใจความได้ และขออธิบายย่อๆง่ายๆ เพราะอี้จิงนี้ ต่อให้เกิดตายเกิดตายอีก 10 ชาติผมก็คงจะหยั่งรู้และจะเล่าไม่ได้หมด
อี้จิงทั้ง 64 กว้า หรือ 64 ข่วย มีอยู่กว้าหนึ่งชื่อว่า
ไท่ 泰 เป็นกว้าสัญลักษณ์ในแง่ว่าดี หรือเฮงแล้วกัน ประกอบจาก กว้าคุน และ กว้าเฉียน
โดยความหมายง่ายๆคือ กว้าคุน คือดิน กว้าเฉียนคือฟ้า จากผังเซียนเทียนปากว้า โดยไท่เกิดจาก ตี้(ดิน-คุน) กับเทียน(ฟ้า-เฉียน) มารวมกัน ก็คือเป็นการรวมกันของฟ้าและดิน โดยที่ว่า เส้นเต็มขีดยาวขีดเดียวแทนค่า หยาง เส้นที่ขีดผ่าครึ่ง หรือแหว่งตรงกลางแทนค่า หยิน
(นี่เป็นเคล็ดลับเด็ดนะ สำหรับพวกหมอฮวงจุ้ยมือใหม่ หรือพวกหมอดูไม่มีพื้นดวงจีนแล้วมาสะเออะบอกว่าตัวเองเก่งฮวงจุ้ย ขอให้คุณเอาผังปากว้านี้ไปลองให้มันเขียน ถ้าไอ้หมอไหนมันวาดกว้าจากบนลงล่าง พั๊วะ ไอ้นี่เก๊โดยทันที ต่อให้รู้ก็ไม่รู้จริง แต่วันนี้คงมีหลายหมอไม่หลงกลแล้ว เพราะผมเอามาเปิดเผยแล้ว)
ฉะนั้น ดูจากกว้าไท่ เรานับเส้นหยางจากล่างขึ้นบนได้ 3 เส้น นี่ก็คือ สามหยาง หรือซานหยาง โดยเส้นนี่มีคำเรียกเฉพาะว่า เหยา นะ หลายคนเที่ยวแต่หนังสือฮวงจุ้ยแบบตลกคนอ่าน เพราะไปเรียกว่า เส้นบ้าง สัญลักษณ์บ้าง จริงๆแล้วเขามีชื่อเฉพาะของเขาก็จงเขียน และใส่วงเล็บไปว่า คือเส้น หรือสัญลักษณ์ คนที่ไปค้นความหมายจะได้ค้นได้ แบบนี้หละนะเวลาผมเล่าเรื่อง พิมพ์ไปก็บ่นไป ฮ่าๆ
ทั้ง 3 เส้น หรือ 3 เหยา หรือ 3 หยางนี้ ศัพท์เทคนิคหน่อยเพื่อโชว์ก็ต้องบอกว่า ชูจิ่ว ชูเอ้อ และชูซัน ของกว้าไท่นี้ เป็นหยางทั้งสิ้น
สรุปง่ายๆก็คือ เส้นหยางสามเส้น ทำให้เกิดกว้าไท่ คือความสงบสุขความสันติสุข เพราะเกิดจากหยางแบบสุกงอมเต็มที่ และหยินแบบสุกงอมเต็มที่มาประกอบกัน โดยที่กระแสฟ้าคลื่นขึ้นบน กระแสดินย่อมเคลื่อนลงล่าง เมื่อกว้าไท่นั้นออกมาเป็น ฟ้าอยู่ล่าง ดินอยู่บน ดินฟ้าย่อมเคลื่อนมาประสานเกิดพลังงานที่ยิ่งใหญ่ จึงเป็นที่มาว่าทำไม ซานหยางเมื่อไคไท่แล้วจึงเป็นมงคล เพราะหมายถึงความหมายแฝงที่ ซานหยางแทนค่าด้วย ฟ้า จึงหมายถึงพรอันประเสริบจากฟ้าส่งความมงคล หรือว่าถ้าเอาเป็นวิทยาศาสตร์หน่อยก็คือ ลมฟ้าอากาศหรือฤดูกาลอันเป็นความมงคล ก็คือการงอกงามเจริญ ในฤดูใบไม้ผลิ ที่ทุกสิ่งทุกอย่างเฟื่องฟูเจริญงอกงามเต็มที่
แต่จะว่าซานหยางไคไท่เป็นมงคลหมดเสียทีเดียวก็คงไม่ถูกต้องนักในความเห็นของผมนะ มันควรจะตั้งวางหรืออยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมของบ้าน และเหมาะกับคนด้วย เพราะกว้าไท่ จากซานหยางไคไท่นี้ หมายถึงพลังงานที่วิ่งเข้าหากันสอดประสานให้เกิดพลังงานที่ยิ่งใหญ่ก็จริง แต่ว่าเมื่อวิ่งเข้าประสานแล้วย่อมมีการวิ่งออก เพราะอย่างที่บอกไปตอนแรกว่าสูงสุดย่อมกลับลงสู่สามัญ ฉะนั้นแล้วก็ยังมีความหมายแฝงที่สอนสั่งมาเป็นนัยอีกว่า คนเรานั้นเมื่อขึ้นสู่ที่สูงแล้ว ย่อมกลับสู่สามัญ ของสิ่งนี้จึงเหมาะกับวัยทำงาน วัยเรียน หรืออายุในช่วงที่แข็งแรง และขวนขวาย มากกว่าช่วงเวลา่เกษียณ หรือใกล้แล้ว หรือตอนแก่ๆอยากอยู่สงบๆ เพราะฉะนั้น ความหมายหรือของมงคลใดๆ ไม่ได้มีดีมีมงคลโดยรอบ (ยกเว้นพระรัตนตรัยอันเป็นมงคลอันอุดม) ของจะดีได้ ต้องดีด้วยความเหมาะสมเป็นพื้นฐาน จำเอาไว้ คือแล้วแต่สภาพแวดล้อมและคนที่ใช้ ไม่ใช่ว่า ของดี ใครใช้ก็ดีๆหมด
การที่เอาซานหยางไคไท่มาประเดิม เพราะความหมายอันดีงามของการเปิดสู่หรือมุ่งสู่ความเจริญงอกงาม ซึ่งคำว่าไท่นี้ เป็นคำคำเดียวกับไท่กว๋อ(ประเทศไทย) ในชื่อใหม่ที่เปลี่ยนมากจาก สยาม หรือเสียนลั๋วกั๋ว ชื่อเดิม
แปลว่าประเทศที่เราอยู่ เป็นประเทศที่เป็นการปกครองโดยถือประชาชนเป็นใหญ่แต่ให้ความสำคัญกับสถาบันกษัตริย์อย่างสูง และกษัตริย์ก็เอื้ออาทรประชาชนและรักประชาชนยิ่ง ตลอดจนเป็นเมืองธรรมเมืองพุทธแห่งควาสงบและสันติสุข โชคดีตายห่าแล้วเกิดมาเป็นคนไทย สำนึกบุญคุณกันไว้เถิด อี้จิงบางทีมันก็สอนเรื่องการปกครองและสังคมได้ แต่ขอไม่บังอาจพูดไปในนี้เกรงว่าจะมากความไป อีกทั้งประเทศนี้ยังเป็นเมืองแห่งความอุดมสมบูรณ์ ชนิดที่ว่า หมาหรือขอทานเมืองไทยยังไม่อดตายเลย เป็นคำพูดที่สื่อถึงความอุดมสมบูรณ์และเอื้อเฟื้อของคนไทย
โปรดระวังว่า ต้องเป็นแพะสามตัว ไม่ใช่แพะห้าตัวนะ เพราะแพะห้าตัวเป็นสัญลักษณ์ของเมืองกวางเจา มณฑลกวางตุ้ง ลองสังเกตจากกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ที่ผ่านมาที่ใช้เป็นสัญลักษณ์
แพะตัวใหญ่คาบรวงข้าว 6 รวง ยืนสง่าอยู่บนดอย มีเรื่องเล่าว่า เมื่อ 4,500 ปีก่อน สมัยโจวหยีหยาง มีเทวดา 5 องค์สวมเสื้อสีสันที่ แตกต่างกันขี่แพะ 5 ตัวลงมา และคาบรวงข้าว 6 รวง สู่เมืองมนุษย์คือเมืองกวางเจา เดิมชื่อฉู่ถิง และได้มอบพันธุ์เมล็ดข้าวแก่ชาวเมืองกวางเจา พร้อมอวยพรให้พ้นจากความอดยากตลอดกาล เมื่อสิ้นคำพูดเทวดาก็หายไป และแพะที่ขี่มาก็กลายเป็นหิน 5 ก้อน จึงได้มีการแกะสลักแพะ 5 ตัว ตามตำนานที่กล่าวไว้และจากนั้นเมืองกวางเจาก็มีเศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรืองอย่างมาก และเชื่อว่าเป็นเพราะแพะเทวดาที่ทำให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง จึงทำให้ชาวเมืองกวางเจาซาบซึ้งในบุญคุณ จึงตั้งอนุสาวรีย์แพะห้าตัวขึ้นมาเพื่อรำลึกถึงท่าน และเป็นสัญลักษณ์ของเมืองกวางเจาตลอดมา
หลายคนคงพอจะคุ้นตากับนาฬิกาที่มีรูปแพะห้าตัวนี้