คัมภีร์สุสาน โบราณ1,600ปี มีความรู้น่าศึกษา
หลุมศพนั้น ชาวไทยเชื้อสายจีนบางคนเรียก พุ้ง บางคนเรียก ฮวงซุ้ย ถ้าท่านเข้าใจกลไกที่หลุมศพบรรพชนส่งผลต่อชะตาชีวิตลูกหลานอย่างถ่องแท้ตามตำราแล้ว อาจจะไม่มีความจำเป็นอีกเลยที่จะต้องสร้างหลุมศพต่อไป ผมเคยพูดหลายรอบแล้วในกรณีการจัดการพิธีฌาปณกิจนี้ว่า ในเมื่อเราเป็นชาวไทย นับถือพระพุทธศาสนา ต่อให้มีเชื้อสายจีนมา ก็ควรยกเอาจารีตธรรมเนียมทางพุทธเหนือกว่าจารีตชาติเชื้อ การฌาปณกิจจึงเหมาะควรที่สุดทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป วันนี้จึงอยากยกเอาคัมภีร์เก่าแก่ทางฮวงจุ้ยว่าด้วย หลุมศพ เอามาอรรถาธิบายให้ท่าน เพื่อจะได้มั่นใจ และเข้าใจในกลไกว่า เหตุใดจึงต้องมีการสร้างหลุมฝังศพเอาไว้
ตำราฮวงจุ้ยภาคหยิน หรือตำราฮวงจุ้ยหลุมศพ มีการกล่าวถึงความสัมพันธ์เกี่ยวกับพ่อแม่และลูกหลานเอาไว้ในหน้าแรก บทเริ่มเอาไว้ว่า
葬者乘生氣也,夫陰陽之氣,。。 อันว่า หลุมศพ นั้นก็อาศัยการหมุนเวียนเปลี่ยนแปรของ ชี่ (ปราณ) ที่มีลักษณะสังเกตได้เป็น ยิน เป็น หยาง ในที่นี่คืออาศัยชี่ของโลก ทั้งผืนฟ้า และแผ่นดิน ชี่ดังกล่าวออกมาในรูปแบบปรากฎการณ์ธรรมชาติก็คือ ชี่ หรือลมปราณคือพลังงานที่เคลื่อนไหวนี้ หากอยู่ในร่างกายก็ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้ เลือดเดินไปเลี้ยงส่วนต่างๆได้ อาหารย่อยและเคลื่อนไป ลมหายใจเข้าและออก โลกและจักรวาลก็เช่นเดียวกัน บนโลกนี้ ชี่ทำหน้าที่สังเกตได้ง่ายเฉกเช่น เป็นลมที่พัดไปมา เมื่อชี่ลอยไปด้านบนก็เป็นก้อนเมฆ เลื่อนคล้อยต่ำตกลงมาก็เป็นสายฝน การเคลื่อนและเปลี่ยนแปรของชี่ ถ้าพูดเป็นภาษาปัจจุบันคือ ลม ฟ้า อากาศ เหล่านี้ก็ทำให้เกิดสรรพชีวิตขึ้นมา
ดินนั้น เป็นตัวรองรับ ก่อรูปร่าง แต่ชี่ เป็นตัวทำให้เกิด หรือเสื่อมถอย หยุดไว้ หรือแปรเปลี่ยน สองสิ่งรวมกันจึงเกิดสรรพชีวิตและการเปลี่ยนแปรต่างๆบนโลก จะเห็นเป็นความสัมพันธ์ของโลก ที่กำเนิดสรรพชีวิต คน สัตว์ พืช เมื่อมองย่อยลงมา คนเรานั้นก็เหมือนกับโลกใบหนึ่ง ครรภ์แห่งมารดานี้เอง เป็นโลกที่มีชี่ไหลเวียนและได้ให้กำเนิดร่างกาย เป็นที่สถิตแห่งดวงจิตวิญญาณ เกิดเป็นชีวิตหนึ่งขึ้นมา เฉกเช่นที่ ผืนดิน และชี่ ของโลกได้สร้าง
เมื่อความสัมพันธ์นี้ผูกกันแน่นหนา พ่อแม่เมื่อล่วงลับไปแล้ว ชี่และธาตุนี้ย่อมหลอมรวมไว้ที่กระดูก เหตุว่าสารในการกำเนิดชีวิต 精 氣 血 เหล่านี้ล้วนหลอมรวมกันเกี่ยวพันกับกระดูก ไขกระดูก หรือถ้าพูดให้เข้าใจสมัยใหม่คือ สเตมเซลล์ ตัวกำเนิดเนื้อหนังมังสาชีวิตนี้ที่เราได้จากพ่อแม่ ผ่านการนอนเนื่องในครรภ์นับเก้าเดือน ก็เป็นตัวเดียวกับที่อยู่ในกระดูกของพ่อแม่ตอนท่านล่วงลับไปแล้ว เพราะกระดูกเป็นที่อยู่ของ ไขกระดูก กลไกสำคัญเชื่อมโยง 精 氣 血 และสเตมเซลล์ไว้ คนจีนสมัยโบราณคิดแบบนี้ ลึกล้ำไหมครับ ในสมัยที่วิทยาการแพทย์ยังไม่ก้าวหน้าขนาดนี้ คนจีนทราบมานานแล้วว่า ในกระดูกนั้นหละ มีสารสำคัญหรือพลังงานบางอย่างที่สำคัญต่อการกำเนิดชีวิต ส่วนมดลูก หรือครรภ์ เป็นแค่ห้องปฏิบัติการอุ้มท้องให้เกิดมาเท่านั้น
ตำรานี้ได้เปรียบเปรยความสัมพันธ์นี้ไว้ว่า เปรียบเหมือนภูเขาทางตะวันตกหากถล่มลงมา ระฆังที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกก็ย่อมได้รับแรงสะเทือนนั้น ลองนึกถึงเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหว ทำนองนั้น ตำรายังกล่าวอีกว่า เปรียบดั่งฤดูใบไม้ผลิมาแล้ว ต้นหญ้าและแมกไม้ในป่าย่อมผลิดอกออกกิ่งฉันใด ต้นไม้ที่ปลูกในที่ดิน ในสวน ในบ้านก็งอกงามขึ้น ณ เวลาเดียวกัน ตรงนี้ยืนยันได้ว่า ผืนดินต้องมีหลังงานอะไรบางอย่างไหลเวียนเคลื่อนคล้อยไปตามที่ราบแนวดินตลอดจนทิวเขา เมื่อแนวทิวเทือกไปสะดุดหยุด ณ ที่ใดๆ พลังงานก็ย่อมถูกกักรวมไว้ ณ ที่นั้น หากใครเคยเรียนดวงจีนมาบ้างก็คงคุ้นเคยกับคำว่า กิ่งฟ้า ก้านดิน ตรงนี้เองเป็นจุดพิสูจน์ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่ฟ้าและดินมีร่วมกันก็คือชี่ บนดินนั้นก็เป็นผืนดิน แอ่ง หุบ เหว ทิวเขา บนฟ้านั้นเองก็เป็นลมและน้ำดังที่ได้อธิบายไว้ข้างต้น เรียบเรี่ยไหลรินไปตามพื้นดินและทิวเขา ถ้านิวตันได้อ่านตำรา จ้างจิง หรือตำราหลุมศพฉบับที่ผมกำลังอธิบายอยู่นี้คงจะบอกว่า อ๋อ ก็แค่แรงโน้มถ่วงของโลกไง ที่ทำให้มีน้ำขึ้นน้ำลง มีฝนตก น้ำไหลไม่ลอยขึ้นฟ้า คนเราก็ยืนอยู่บนโลกได้ แต่ทางจีนไขความลับมองลึกลงไปกว่านั้นว่า นอกจากแรงโน้มถ่วงที่ดึงดูดกันอยู่แล้ว ยังมีความสัมพันธ์ในเชิงชีวิตอยู่ในนั้นด้วย หรือพูดง่ายๆว่า ฝรั่งเห็นสิ่งหนึ่ง พิเคราะห์ออกมาทางวัตถุ แต่จีนเห็นส่ิงเดียวกันแล้วอธิบายเป็นในเชิงชีวิตว่า สำคัญอะไรกับชีวิต ยังได้อธิบายต่อไปว่า พลังงานที่เรียกชี่ นี้ หากถูกลมพัดไม่มีที่ให้พักพิงกักเก็บย่อมซ่านไป ส่วนว่าถ้ามีน้ำอยู่ย่อมเก็บกักได้ ชี่จึงไม่ใช่ลม ผมย้ำมาแล้วหลายรอบในบทความผมแล้วว่า ชี่ไม่ใช่ลม และลมก็ไม่ใช่ชี่ ชี่มีอยู่ในทุกๆที่บนโลกอยู่แล้ว ไม่ว่าในหรือนอกร่างกายคน ที่ใดมีลมไม่ได้แปลว่าที่นั้นมีชี่เสมอไป เพราะถ้าชี่และลมคืออันเดียวกัน คงไม่มีคำกล่าวว่า ชี่ถูกลมแล้วซ่านไป ก็หากว่าเป็นสิ่งเดียวกันไซร้ จะกระทบกันได้อย่างไร
ชี่ตรงนี้ผมก็สุดแต่จะอรรถาธิบายความ แต่ผมได้แปลให้ผู้มาเรียนกับผมหลายคนฟังว่า ชี่ ให้แปลว่า สายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติโดยยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง มนุษย์ก็ไปสังเกตธรรมชาติพบว่า ที่ใดที่เป็นที่โล่งลมแรง ก็เป็นทะเลทราย พืชไม่งอกงาม สัตว์อยู่อาศัยได้ยาก แต่ที่ใดที่ใกล้น้ำริมน้ำ ลมพัดเอื่อย ที่นั่นพืชพรรณขึ้นงาม สรรพสัตว์เป็นสุข ตรงนี้แหละเรียกว่า ชี่ ชี่จึงเป็นพลังชีวิต มากกว่าจะเป็นแค่ ลม การวางฮวงจุ้ยบ้านคนเลยไม่ใช่เน้นที่ วางแอร์ที่ใด พัดลมตรงไหน หน้าต่างประตูอยู่ตำแหน่งใด หันถูกทิศไหม ใจความทั้งหมดคือ ชี่ดีๆ ที่ต้องไหลเวียน และต้องได้ที่พักที่เก็บอยู่ตำแหน่งที่ดีของบ้าน ของห้องไหม เช่นว่า บ้านสองบ้านที่มีหน้าต่างตำแหน่งเดียวกัน ชี่ในบ้านที่ตำแหน่งดีๆ อาจอยู่คนละที่ ด้วยลมพัด ด้วยความเคลื่อนไหวของคน การใช้งานในบ้าน ตลอดจนวัตถุเครื่องเรือน ถูกวางไว้ต่างกันไป จึงควรเข้าใจให้ถูกตรงว่า ที่เขาให้หาองศาหน้าต่าง หรือประตูบ้าน หรือหน้าบ้าน เพื่อหาว่า ชี่ดีๆ ควรอยู่ตรงไหนบ้าง ไม่ใช่ ไปอยู่ที่ขอบหน้าต่างบานประตูตรงนั้น การดูดวงจีนได้อย่างชำนิชำนาญจะทำให้ท่านทราบว่า เมื่อเจ้าบ้านย่างเท้าเข้าบ้าน เขามักเดินไปไหน นอนที่ใด นั่งตรงไหน ที่ใดสามารถทำงานแล้วสมองโล่ง ที่ใดเหมาะแก่การพักผ่อนเต็มที่ ฯ แล้วค่อยเอามาเช็คเปรียบเทียบสภาพจริงของฮวงจุ้ยที่วัดได้ว่า ตรงกันไหม บางคนชอบไปนั่งในมุมที่อับชี่ของบ้านก็มีถมเถ เขาประพฤติไปตามความชอบและคุ้นชิน ซึ่งในที่นี้เราเรียกว่า ทำไปตามดวงโดยอัตโนมัติ
วันนี้ท่านจะได้เข้าใจเสียทีว่า ตำราโบราณมีเขียนไว้ครับ ว่าหลุมศพส่งผลต่อลูกหลานได้อย่างไร โดยไม่ต้องไปพูดเอาเอง เราเชื่อครูบาอาจารย์ที่ท่านบันทึกไว้ผ่านการพิสูจน์มาหลายร้อยปีดีกว่า และยังจะได้เข้าใจเพิ่มว่า ฮวงจุ้ย นำคำว่า ลม และน้ำ มาใช้ถ่ายทอดเรื่อง ชี่ ว่าหากต้องลมมากทำให้ชี่ซ่านไป กระจายไป ส่วนเมื่อได้น้ำ ทำให้ชี่กักเก็บไว้ได้ มาถึงตรงนี้จึงอยากบอกว่า เลิกยึดติดว่าบ้านทุกบ้านต้องมีลม มีน้ำ ให้ใช้คำว่า อากาศ และชี่ สิ่งใดที่มาทำให้เกิดการเคลื่อนไหวซ่านกระจายชี่ได้ เช่น แอร์ พัดลม ช่องลม ประตู หน้าต่าง พวกนี้ถือเป็น ลม ในความหมายนี้หมด ส่วนน้ำ ในความหมายนี้คือ ส่ิงที่ทำให้ชี่หยุดและกักเก็บไว้ได้ นอกจากน้ำ ต้นไม้ก็เป็นหนึ่งในนั้น เตียงนอนก็ได้ โต๊ะทำงานก็ได้ คนที่เรารักก็ได้ คืออันนึงแผ่ซ่านออก อันนึงรวมเข้า จะสรุปย่นลงว่า ฟง/สุ่ย หรือ ฮวง/จุ้ย คือ อ้า/หุบ หรือคือ ยิน/หยาง ซ่าน/รวม ก็ได้ทั้งนั้น
นี่ไม่ใช่ผมพูดเองนะครับ แค่ผมใช้ภาษาปัจจุบันง่ายๆอธิบายให้ฟัง ใจความเรื่องนี้ตำราเขียนไว้ ว่า เฟิงสุ่ย ฮวงจุ้ย เน้นที่ชี่ เพียงแต่เอาคำว่า ชี่มาอธิบายเปรียบกับตัวอย่างจริงในธรรมชาติว่า ลมกระทบชี่ให้ซ่าน น้ำรวมชี่ให้อยู่ โดยไม่ให้ไปยึดที่ลมหรือน้ำ แต่มุ่งสอนปฏิกิริยาว่า ฮวงจุ้ยคือวิชาที่ต้องเน้นหนักการกระจายชี่ กับการกักชี่ โดยต้องแยกแยะอาคารและดวงชะตาให้ออก พอๆกับที่หมอจีน แมะ ตรวจโรคแล้วแยกว่า คนนี้ภาวะแกร่ง คนนี้ภาวะพร่อง หากว่า แกร่ง ก็ต้องกระจายออก ทำให้ไหลออก ถ่ายเทออก ซ่านออก หากว่าพร่อง ก็ต้องรวมพลัง ต้องบำรุง ต้องเสริมธาตุเพิ่ม ฮวงจุ้ยจึงแปลได้ว่า ซ่านหากพลังติดขัด และรวมเมื่อพลังซ่านกระจายเกินไป หาจุดพอดีของที่ดินหรืออาคารนั้นๆ
ท้ายตำราในหน้านี้ยังเขียนไว้ว่า ผืนดินคือรากเหง้าของชี่ ชี่คือรากเหง้า(แม่)ของน้ำ มีดินถึงมีชี่ (ดินคือตัวรองรับ ตัวต้นกำเนิด) มีชี่ถึงมีน้ำได้ (เปรียบเหมือนร่างกายคนเรา เกิดจากท้องแม้ ท้องนั้นเป็นดิน เลือดลมของแม่เป็นน้ำ ต้องมีรูปธาตุดินเสียก่อน จึงจะมี เลือด ลม ปราณได้)
ตำรานี้ว่า น้ำตื้นจึงเลื่อนไหลไปมา แต่น้ำลึกจึงดูนิ่งๆ ยิ่งลึกยิ่งนิ่ง เหตุฉะนี้ตำราจึงว่าต้องทำลานกว้าง หรือ เหม่งตึ๊ง หมิงถาง ให้เกิดพลังราบเรียบสงบนิ่งหากว่าลานไม่สงบ ชี่ย่อมไม่ดิ่งลึก กักเก็บน้อย ผมอยากเพิ่มเติมว่า ตัวลึกคือน้ำ ตัวนิ่งคือชี่ ท่านลองใช้เวลาสักพักคำความเข้าใจดู
พอเข้าใจมาถึงตรงนี้ ผมก็อยากบอกว่าสรุปแล้วหากว่าสิ่งที่คนจีนค้นพบเมื่อหลายร้อยปีจนแต่งเป็นตำรานี้เป็นเรื่องจริง ท่านไม่ต้องไปรอเสริมดวงด้วยหลุมศพ หรือรอพ่อแม่ตัวเองตาย หรือไปตกแต่งหลุมบรรพชน หากท่านเป็นพ่อแม่ให้หมั่นอวยพรลูก และทำตัวให้ดี ภาษิตไทยว่า เลือดเนื้อเชื้อไข คนเป็นพ่อเป็นแม่ทำตัวดี รู้จักสั่งสอนลูก ย่อมได้ลูกดีตามแต่วิบากผลกรรม หากท่านเป็นลูก การให้ความเคารพ กตัญญู ด้วยระลึกไว้เสมอว่า ร่างกายนี้เป็นของพ่อแม่ อย่าเอาของๆพ่อแม่ที่ให้มาไปทำผิดชั่วช้าเลวทราม ให้เอาของที่พ่อแม่ให้มาทำความดี บ่อยครั้งนะ ที่ลูกป่วย ให้พ่อแม่สวดมนต์ให้ ลูกก็อาการดีขึ้น พ่อแม่ป่วยให้ลูกทำก็เช่นกัน ตำราแพทย์แผนไทยโบราณก็มีเขียนเรื่องนี้ ว่า หากสามีป่วย แก้ที่ภรรยา หรือ ลูกป่วย แก้ที่พ่อแม่ มีเขียนไว้เป็นวิธีการจ่ายยารักษาแบบแพทย์แผนไทยจริงๆ ลองไปหาอ่านดูได้ในตำราแพทย์ศาสตร์ฉบับหลวง
แปลจาก คัมภีร์จ้างจิง สมัยราชวงศ์จิ้น ราว 1,600 ปี
ซินแสหลัว