กินเจ กินอย่างไรที่เรียกว่า ไม่เห็นเป็นไปเพื่อประดับ ไม่ให้เป็นไปเพื่อตกแต่ง

กินเจ-กินอย่างไร

 

กินเจ-กินอย่างไร

แนะนำวิธีกินเจยังไง ให้ไม่อ้วน


พญ.กอบกาญจน์ ไพบูลย์ศิลป
 รองกรรมการผู้จัดการบัลวี-ศูนย์ธรรมชาติบำบัด แนะนำวิธีกินเจให้ไม่อ้วนไว้ว่า 

  1. เลือกกินข้าวหรือแป้งที่ไม่ขัดขาว เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท ลูกเดือย ธัญพืชต่าง ๆ ร่างกายใช้พลังงานในการย่อยออกมาเป็นแป้งที่พร้อมดูดซึม ซึ่งน้ำตาลไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับปริมาณที่เท่ากันของแป้งขัดขาว

2. เลือกผักใบมากกว่าพืชหัว เพราะผักใบมีคาร์โบไฮเดรตที่น้อยกว่าพืชหัวมาก ดังนั้น การกินผักใบจะทำให้เราได้พลังงาน และปริมาณแป้งน้อยกว่าจึงไม่ทำให้อ้วน

3. เลือกกินของนึ่ง ต้ม ตุ๋น ดีกว่าของทอดและผัด เพราะช่วยให้เลี่ยงการกินน้ำมัน ซึ่งมีไขมันอยู่สูง

4. กินหวานให้น้อยลง ไม่ใช่ว่าเมื่อคุณกินเจแล้ว จะสามารถกินขนมหวานได้เต็มที่ เพราะไม่ว่าจะเป็นอาหารเจหรือไม่เจ ถ้ามีความหวานและผสมน้ำตาลอยู่มากก็อ้วนได้ไม่ต่างกัน

พวกเราใช้คำว่าเทศกาล ทานเจ กันเสียเคยชิน จึงไปมุ่งเน้นที่การเลือกทานอาหารเจ โดยลืมไปว่า เทศกาลทานเจ จริงๆถ้าพูดตามภาษาชาวพุทธก็ต้องบอกว่า เทศกาลถืออุโบสถศีล ซึ่งจริงๆมีธรรมเนียมแต่โบราณกำหนดให้ทำทุกวัน พระ อยู่แล้ว โดยการนุ่งขาวห่มขาว ไปนอนที่วัด และสมาทานอุโบสถศีล ซึ่งอุโบสถศีลนี้มีอานิสงค์มากกว่า ศีลห้า เพราะมุ่งหมายอำนวยความสะดวกแก่การปฏิบัติภาวนากรรมฐาน คือ การงดดูการละเล่น การฟังดนตรีขับร้อง อันเป็นเหตุทำให้จิตฟุ้งซ่านและเป็นอุปสรรคต่อการฝึกฌาน  การงดเครื่องสำอาง ของหอม ประดับตกแต่งร่างกาย เพื่อให้มีสติ มีปัญญารู้เห็นตามเป็นจริงว่า กายนี้เป็นกองทุกข์ คำว่า กาย ภาษาบาลีแปลว่า ก้อนสกปรก เป็นถุงหนังหุ้มที่ใส่ไว้ภายในด้วย เลือด หนอง อวัยวะ อุจจาระ ของเสียต่างๆ หาความสะอาดไม่ได้เลย และสุดท้ายคือ วิกาลโภชนา การไม่รับประทานอาหารหลังเที่ยง อันนี้ยืนยันได้หากใครปฏิบัติธรรมบ่อยๆ จะพบว่า ทำให้เกิดความเบากาย เบาจิต จิตอ่อนโยน กายอ่อนโยน ควรแก่การงาน ซึ่งหลักการนี้ ทั้งของแพทย์แผนจีน และของเต๋า ก็มีพูดเอาไว้ เรื่องว่า 不时不食 คือการรู้จักเลือกกินให้ถูกเวลา และไม่กินในตอนค่ำ ตอนเย็นนั้นเอง

เทศกาลกินเจนั้น เพื่อให้เกิดผลดีสูงสุด เพราะการรักษาศีลอุโบสถ ถือว่าเป็นศีลที่มีความเป็นองค์รวม คือต้องทำให้ครบถึงเกิดผล จะเห็นได้ว่า หากไม่เอาใจไปวอกแวก ภาวนาตลอดเวลา จะไม่รู้สึกเหนื่อย เหงื่อไม่ออก ก็ไม่จำเป็นต้องประทินฉีดน้ำหอม และก็จะไม่รู้สึกหิวในตอนเย็นด้วย และการไม่ทานอาหารในตอนเย็นก็ทำให้ความหมักหมมตกค้างในร่างกายน้อย ทำให้เหงื่อหรือกระบวนการความร้อนเพื่อย่อยอาหารลดลง การจะต้องมาทำให้ตัวหอมเพื่อกลบกลิ่นเหม็นก็ไม่มีความจำเป็น และการที่ไม่ประดับประดาตัวเองไม่แต่งหน้าแต่งตา ความสวยความงามก็ย่อมลดน้อยลง ไม่ต้องข้องแวะกับเรื่องชู้สาว หรือการชายตามองไปมา อันส่งผลให้ฟุ้งซ่าน เสียสมาธิ และยึดมั่นถือมั่นว่า กายนี้เป็นของ สะอาด เป็นของฉัน ทั้งๆที่สกปรกมาก สกปรกแบบต้องล้างทุกวัน หรือแม้กระทั่งหน้า ยังต้องล้างเช้าล้างเย็น  ด้านล่างคือบทสวดพิจารณาอาหารซึ่งเชื่อว่า หลายท่านที่เคยไปวัด ไปปฏิบัติฯบ่อยๆ คงจะเคยท่องแล้วเกิดความสงสัยในความหมายของคำแปลบางคำ เลยได้ให้ความหมายเพิ่มเติมเอาไว้  อ้างอิงจาก หนังสือสวดมนต์ พุทธุปปัฏฐานะปาโฐ สยามะรัฏเฐ เขลางค์นะคะเร ท่ามะโออาราเม วสันตานัง ภิกขุสามะเณรานัง ฯ

ปะฏิสังขา โยนิโส ปิณฑะปาตัง ปะฏิเสวามิ
เราย่อมพิจารณาโดยแยบคายแล้วฉันบิณฑบาต
เนวะ ทวายะ
ไม่ให้เป็นไปเพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนาน (กินเอาอร่อย)
นะ มะทายะ
ไม่ให้เป็นไปเพื่อความเมามัน เกิดกำลังพลังทางกาย (กินให้มีรูปร่างดี หุ่นดี ให้สามารถทำงานได้เยอะๆ)
นะ มัณฑะนายะ
ไม่ให้เป็นไปเพื่อประดับ (มีการอธิบายความว่า เพื่อประดับ คือ เพื่อให้ร่างกายอ้วนพี อวบอิ่มเหมือนหญิงแพศยา)
นะ วิภูสะนายะ
ไม่ให้เป็นไปเพื่อตกแต่ง (มีการอธิบายความว่า เพื่อประเทืองผิวให้งาม เหมือนหญิงนักฟ้อน มุ่งถึงความมีผิวพรรณงาม)
ยาวะเทวะ อิมัสสะ กายัสสะ ฐิติยา
แต่ให้เป็นไปเพียงเพื่อความตั้งอยู่ได้ แห่งกายนี้
ยาปะนายะ
เพื่อความเป็นไปได้ของอัตภาพ
วิหิงสุปะระติยา
เพื่อความสิ้นไปแห่งความลำบากทางกาย
พรัหมะจะริยานุคคะหายะ
เพื่ออนุเคราะห์แก่การประพฤติพรหมจรรย์
อิติ ปุราณัญจะ เวทะนัง ปะฏิหังขามิ
     ด้วยการทำอย่างนี้ เราย่อมระงับเสียได้ซึ่งทุกขเวทนาเก่า คือความหิว
นาวัญจะ เวทะนัง นะ อุปปาเทสสามิ
และไม่ทำทุกขเวทนาใหม่ให้เกิดขึ้น
ยาตรา จะ เม ภะวิสสะติ อะนะวัชชะตา จะ ผาสุวิหาโร จาติฯ
อนึ่ง ความเป็นไปโดยสะดวกแห่งอัตภาพนี้ด้วย
ความเป็นผู้หาโทษมิได้ด้วย และความเป็นอยู่โดยผาสุขด้วย จักมีแก่เราดังนี้แล.

 

ตุลาคม 6, 2015

ป้ายกำกับ: